ขอรัฐเร่งตรวจสอบไฟไหม้ โรงงาน “แวกซ์ กาเบ็จ” จ.ราชบุรี เพราะเป็นโรงงานที่แพ้คดีประวัติศาสตร์จากการฟ้องแบบกลุ่ม เหตุปล่อยของเสียอันตรายสู่ชุมชน
รายงานพิเศษ
เหตุเพลิงไหม้ภายในโรงงาน แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 16 มิ.ย. 2565 สร้างความกังวลอย่างมากให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ เพราะเป็นโรงงานที่ถูกตัดสินให้แพ้คดีจากการปล่อยของเสียอันตราย ทั้งสารอินทรีย์ระเหยง่าย สารโลหะหนัก ออกไปยังสิ่งแวดล้อมและชุมชนผ่านน้ำใต้ดินมาราว 20 ปี จนกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนรวมตัวกัน “ฟ้องคดีแบบกลุ่ม” (Class Action) จนชนะเป็นคดีแรก ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
โรงงาน แวกซ์ กาเบ็จ ที่อยู่ระหว่างการถูกสั่งปิด ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมภายในโรงงานได้ มาตั้งแต่แพ้คดีต่อประชาชนในพื้นที่ กลับเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นบ่อยครั้ง และเกิดเพลิงไหม้ขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 6.00 น. วันที่ 16 มิ.ย. 2565 โดยมีข้อมูลจากหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ ระบุจุดที่เกิดเพลิงไหม้เทียบกับแผนผังของโรงงานว่า มีเพลิงไหม้ 4 จุด คือ อาคารโกดัง ซึ่งไม่ทราบว่าจัดเก็บอะไรบ้าง, อาคารโรงงานผลิตสี, อาคารโรงงานซ่อมและล้างถังด้วยตัวทำละลาย และอีกหนึ่งจุดเป็นพื้นที่ว่างเปล่า
นายชำนัญ ศิริรักษ์ หนึ่งในทีมทนายความที่ทำคดีฟ้องแบบกลุ่มให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานแห่งนี้ ระบุว่า สถานภาพของ แว็กซ์ กาเบจ ในปัจจุบัน คือโรงงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการใดๆ ได้ ไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพของเสียในโรงงานได้อีกต่อไป แต่มีหน้าที่ต้องขนย้ายของเสียอันตรายทั้งหมดที่ถูกจัดเก็บอยู่ในโรงงานออกไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยต้องส่งไปที่โรงงานที่มีศักยภาพในการกำจัดของเสียอันตรายเท่านั้น ซึ่งมีราคาค่ากำจัดที่ค่อนข้างสูง จึงยังมีของเสียอันตรายถูกจัดเก็บไว้ในโรงงานเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในโรงงาน จึงสร้างความกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก
นายชำนัญ ระบุถึงชนิดของของเสียอันตรายจากที่เคยเข้าไปตรวจสอบภายในโรงงาน แว็กซ์ กาเบ็จ ก่อนหน้านี้ และพบแม่สี ทินเนอร์ รวมทั้งสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ถูกเก็บอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งตามหลักการเมื่อโรงงานไม่ได้ประกอบกิจการและใบอนุญาตบางส่วนถูกเพิกถอนไปแล้ว ก็ต้องนำของเสียอันตรายเหล่านี้ออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง และยังทราบข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าโรงงานเคยถูกดำเนินการทางกฎหมายเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายกากของเสียออกจากโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้ลักลอบทิ้งถังสารเคมีตามสถานที่ต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับถังในโรงงานแห่งนี้จนมีความสงสัยว่าอาจจะมีความเกี่ยวพันกัน
“เนื่องจากการกำจัดอย่างถูกต้องมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงมีข้อสังเกตตามมาว่า เหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น อาจมีความเกี่ยวข้องจากการที่โรงงานไม่สามารถลักลอบนำของเสียอันตรายออกไปทิ้งได้อีกหรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร็วที่สุด เพื่อยืนยันว่า จุดที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นจุดที่จัดเก็บของเสียอันตรายที่ต้องส่งไปกำจัดหรือไม่” นายชำนัญ กล่าว
ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยด้วยว่า คดีที่ประชาชนในพื้นที่ฟ้องร้องต่อกรณีนี้ ยังมีคดีทางปกครองรวมอยู่ด้วยอีกหนึ่งคดี ซึ่งประชาชนฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของโรงงานเป็นการถาวร และขอให้หน่วยงานรัฐดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไปก่อน เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า ทางโรงงานยังไม่มีความพยายามนำของเสียอีนตรายไปกำจัดอย่างถูกต้อง ยังคงเก็บไว้ในโรงงานหรือพยายามนำไปลักลอบทิ้ง ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะสภาพของน้ำใต้ดิน ซึ่งตรวจครั้งล่าสุดพบว่า มีแนวโน้มปนเปื้อนรุนแรงขึ้นไปกว่าเดิม