xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” คุมเข้มปล่อยมลพิษจากปล่องโรงงานกว่า 600แห่งสั่งติดตั้งCEMS เริ่ม10 มิถุนายน 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” คุมเข้มโรงงานระบายมลพิษขนาดใหญ่กว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ สั่งติดตั้งระบบ CEMS มีผลบังคับใช้ 10 มิถุนายน 2566 ยกระดับเฝ้าระวังการควบคุมมลพิษอากาศจากปล่องโรงงานแบบ Real time พร้อมดึงภาคประชาชนร่วมตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน POMS

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องโรงงาน พ.ศ. 2565 ให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทที่ระบายมลพิษจากปล่องกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป โรงงานที่ขออนุญาตใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ส่วนโรงงานเก่าต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 9 มิถุนายน 2567

“นอกจากเจ้าหน้าที่จะสามารถดูค่าการระบายมลพิษได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ยังเปิดให้ประชาชนเข้าดูค่าการระบายมลพิษจากปล่องผ่านแอปพลิเคชัน POMS เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมที่จะไม่ระบายมลพิษเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด และพร้อมให้ภาคประชาชนตรวจสอบ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน POMS ได้ทั้งระบบ ไอโอเอส และแอนดรอยด์”นายสุริยะกล่าว

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 10 มิถุนายน 2565แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นการขยายพื้นที่บังคับใช้ให้โรงงานติดตั้ง CEMS เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องระบายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากเดิมบังคับใช้ในจังหวัดระยองแห่งเดียว

รวมทั้งปรับปรุงประเภทโรงงาน และชนิดของมลพิษที่ต้องตรวจวัด เพื่อควบคุมกำกับดูแลการระบายมลพิษอากาศในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีการระบายมลพิษสูงหรือกระบวนการผลิตสุ่มเสี่ยงจะมีการระบายสารมลพิษ เช่น โรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่อหน่วย 10 เมกกะวัตต์(MW) ขึ้นไป หม้อน้ำที่มีขนาด 30 ตันไอน้ำต่อชั่วโมงขึ้นไป หน่วยผลิตที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง 100 ล้านบีทียู (MMBTU) ต่อชั่วโมงขึ้นไป โรงเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงปูนซีเมนต์ โรงกระดาษ โรงผลิตกรด เตาเผาขยะ โรงผลิตแก้ว เป็นต้น รวมถึงหน่วยผลิตอื่นที่ถูกกำหนดให้ติดตั้ง CEMS ตามเงื่อนไขรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โดยกำหนดให้ต้องมีการตรวจวัดค่าความทึบแสง ฝุ่นละออง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ปรอท ไฮโดรเจนคลอไรด์ หรือค่าอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

“โรงงานที่จะต้องติดตั้งระบบ CEMS เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ กว่า 50% เป็นโรงงานที่ทำ EIA และถูกกำหนดให้มีการติดตั้งระบบ CEMS อยู่แล้ว กรอ. เชื่อมั่นว่ามาตรการเฝ้าระวังการระบายมลพิษจากปล่องโรงงานแบบ Real Time จะช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบกิจการ และเป็นมาตรการหนึ่งในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น