เป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปีมาแล้วจากวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มรณภาพ จนถึงวันนี้ไม่ว่าจะสำรวจวันไหน พระพิมพ์สมเด็จที่ท่านสร้างไว้ก็ครองอันดับ ๑ ของพระเครื่องยอดนิยมมาตลอด ในวันแห่ศพท่านโดยขบวนเรือจากวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม มาวัดระฆัง มีผู้คนมากมายมารอรับกันแน่นวัด มีการตักพระพิมพ์สมเด็จที่ท่านสร้างไว้แจกคนละองค์สององค์ หมดไป ๑๕ กระถางมังกร แต่วันนี้พระพิมพ์สมเด็จมีราคาที่เช่ากันไม่ใช่แค่องค์ละเป็นล้าน แต่เป็นหลายสิบล้าน เป็น ๑๐๐ ล้านก็มี
ในปลายปี ๒๔๑๓ ขณะสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี มีอายุ ๘๒ ปี ได้มีหนังสือแจ้งกรมสังฆการี จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสและงานสวดงานสอน ด้วยเหตุชราภาพ ไม่สามารถรับราชการเทศน์และสวดฉันในพระบรมมหาราชวังได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตามที่ขอ และสถาปนาขึ้นเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์
เมื่อได้รับการปลดจากภาระการวัดการสวดแล้ว ท่านก็คลายอิสริยยศ บริวารยศ แบกตาละปัตรเอง พายเรือบิณฑบาตเอง ไปไหนก็สะพายบาตรไปด้วย ใครใส่เวลาไหนท่านก็ฉลองศรัทธาเวลานั้น เวลาว่างก็นั่งพิมพ์พระเครื่องด้วยตัวเอง แล้วปลุกเสกด้วยคาถาชินบัญชรที่ท่านได้มาจากเมืองกำแพงเพชร โดยมีหลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองของราชสำนัก เป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย ใครมาเยี่ยมที่กุฏิท่านก็แจกพระให้ ไปบิณฑบาตก็แจก และคงให้เวลาพิมพ์พระสมเด็จนี้ไว้มาก ในหนังสือชีวประวัติของท่าน โดยพระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) กล่าวว่า พระยานิกรบดินทร์ (โต กัณยาณมิตร) ผู้สร้างวัดกัลยาณมิตร ได้ถวายทองคำเปลวมาให้ท่านปิดพระสมเด็จ แต่ปิดไปได้ ๔๐,๐๐๐ กว่าองค์ทองก็หมด ยังเหลือพระอีก ๔๔,๐๐๐ องค์ที่ยังไม่ได้ปิด องค์ที่ปิดทองนี้ตั้งใจจะถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่จะได้ถวายหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏหลักฐาน
ในระยะหลังนี้ท่านมักจะไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบางขุนพรหมนอก คือวัดอินทรวิหาร ที่ถนนสามเสนในปัจจุบัน เพราะท่านเคยมาศึกษาพระธรรมที่วัดนี้ตั้งแต่ยังเป็นเณร จึงมาเป็นประธานก่อสร้างพระศรีอริยเมตไตรย หรือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร สูงถึง ๓๒ เมตร โดยเริ่มสร้างในปี ๒๔๑๐ และให้ช่างเขียนภาพประวัติของท่านไว้ที่ผนังโบสถ์ ๑๒ ฉาก เล่าความเป็นมาตั้งแต่แรกเกิดนอนแบเบาะ จนมาเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง น่าเสียดายที่ภาพเหล่านี้เลือนหายไปหมดแล้ว ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นภาพที่เขียนขึ้นใหม่
แต่การก่อสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโตไม่ทันแล้วเสร็จ สร้างขึ้นไปได้แค่ครึ่งองค์ ท่านก็อาพาธด้วยโรคชรา ๑๕ วันก็มรณภาพบนศาลาวัดในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ สิริอายุได้ ๘๔ ปี อยู่ในสมณเพศ ๖๔ พรรษา รับตำแหน่งที่สมเด็จพุฒาจารย์มาได้ ๗ ปี และเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังได้ ๒๑ ปี
ครั้นเมื่อสมเด็จโตมรณภาพแล้ว ได้รับพระราชทานน้ำสรงศพ บรรจุในโกศไม้ ๑๒ ยกลงขบวนเรือฝีพายหลวงล่องไปที่วัดระฆัง ซึ่งมีผู้คนมาคอยรับศพกันแน่นขนัด เจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) ผู้เป็นเหลนสมเด็จโต และจำพรรษาอยู่ที่วัดระฆังกับสมเด็จโตมาตลอดตั้งแต่เป็นเณร ได้ตักพระพิมพ์สมเด็จแจกเป็นของชำร่วยแก่บรรดาผู้มาเคารพศพทั่วกันคนละองค์สององค์ หมดไปในวันนั้นสามหมื่นองค์ และยังแจกเรื่อยมาจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพแล้วก็ยังมีผู้ขออีก ได้แจกต่อไปอีกหลายปี จนหมดไปถึง ๑๕ กระถางมังกร ซึ่งก็ไม่แจ้งว่าเป็นกระถางมังกรขนาดไหน เพราะขนาดของกระถางมังกรมีตั้งแต่ขนาด ๑ ปี๊บ จนถึง ๔ ปี๊บ
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา ๑๕๐ ปีแล้ว พระสมเด็จวัดระฆัง ๑๕ กระถางมังกร ไม่รู้ว่าเหลืออยู่กี่องค์ แต่ที่รู้ก็คือแต่ละองค์มีค่าตีราคาเป็นสิบๆล้านทั้งนั้น องค์ที่นำมาเป็นภาพประกอบในเรื่องนี้ กล่าวว่ามีราคาถึง ๑๕๐ ล้านบาท