ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับสมรสเท่าเทียม ควรเลือกแบบไหนและต่างกันอย่างไร
จากกรณีมีการเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกร้อง "สมรสเท่าเทียม" เพื่อสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ถูกพูดถึงและเป็นที่ถกเถียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเกิดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 บนโซเชียลมีเดียหลายครั้ง นำไปสู่การลงชื่อเรียกร้องให้มีการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเพื่อผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Prinya Thaewanarumitkul" ในประเด็นสมรสเท่าเทียม กับคู่ชีวิตจดทะเบียน ต่างกันอย่างไร เราควรเลือกแบบไหน? โดยมีใจความว่า
"ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ที่ผ่านวาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับร่าง พ.ร.บ.#คู่ชีวิต ซึ่งมีหลายฉบับนั้น นอกจากประเด็นว่า ยังมีด่านวาระที่สอง และวาระที่สาม และด่านวุฒิสภาแล้ว ยังมีประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หลักการเป็น #คนละเรื่องกัน ครับ
หลักการของสมรสเท่าเทียม (marriage equality) คือ #การให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ (same-sex marriage) อย่างเท่าเทียมกับคนต่างเพศสมรสกัน ส่วนหลักการของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือคนเพศเดียวกันที่ต้องการจะสมรสกันจะทำได้แค่ #จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต (registered partnerships) เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่สองสิ่งนี้ที่แตกต่างกันในหลักการจะผ่านมาเป็นกฎหมายด้วยกันได้ ในการตัดสินใจว่าเราควรจะเลือก “สมรสเท่าเทียม” คือ #ให้คนทุกเพศเท่าเทียมที่จะสมรสกัน หรือจะเลือก “คู่ชีวิตจดทะเบียน” คือให้การสมรสเป็นสิทธิของคนต่างเพศกันเท่านั้นต่อไป หากเป็น #เพศเดียวกันจะทำได้เพียงจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาดังต่อไปนี้ครับ
1. ประเทศแรกที่ให้ #คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ โดยเท่าเทียมกับคนต่างเพศสมรสกัน คือประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้มีการออกกฎหมายในปี พ.ศ. 2543 และมีผลบังคับใช้ในปีถัดมา ก่อนหน้านั้นคนเพศเดียวกันทำได้เพียงแค่ #จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ซึ่งประเทศแรกที่ทำคือประเทศเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งมีสถานะทางกฎหมาย #ด้อยกว่าการสมรสหลายประการ
เมื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ให้คนเพศเดียวกันเท่าเทียมกับคนต่างเพศในการสมรสกันแล้ว หลังจากนั้นประเทศต่างๆ ที่เคยให้แค่จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ก็เริ่มทยอยเปลี่ยนเป็นสมรสเท่าเทียม จนในปัจจุบันมีทั้งหมด 31 ประเทศ โดยประเทศล่าสุดคือสวิตเซอร์แลนด์
2. การสมรสเป็น #สถานะทางกฎหมาย จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการ #จดทะเบียนกัน โดยก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างคนสองคนที่สมรสกัน ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ #สิทธิในทรัพย์สิน พอจดทะเบียนสมรสกันแล้วกฎหมายจะถือว่าสองคนที่สมรสกันเป็นคนเดียวกัน บรรดาทรัพย์สินที่ได้มาไม่ว่าใครจะหามา จะถือเป็น #สินสมรส ที่ทั้งคู่เป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าหย่ากันแล้วตกลงกันไม่ได้ กฎหมายก็จะให้แบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมคือการ #แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องครอบครัว จากให้เฉพาะคนต่างเพศคือชายกับหญิงเท่านั้นที่สมรสกันได้ ก็แก้ไขให้ #เพศเดียวกันหรือเพศใดๆ สมรสกันได้ ซึ่งแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ไม่ได้ไปแตะต้องอะไรในประมวลกฎหมายแพ่ง คือให้การสมรสเป็นเรื่องชายกับหญิงเท่านั้นต่อไป หากเพศเดียวกันอยากจะสมรสกันจะให้เป็นได้แค่ “คู่ชีวิตจดทะเบียน” ดังที่เดนมาร์กเริ่มทำในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งเดนมาร์กและประเทศต่างๆ ที่เคยให้เพศเดียวกันเป็นได้แค่คู่ชีวิตจดทะเบียน ก็เปลี่ยนเป็นให้สมรสเท่าเทียมกันทั้งนั้นแล้ว
3. ในเรื่องประเด็นทางศาสนานั้น เราต้องเข้าใจว่า #การสมรส กับ #การจัดพิธีสมรส หรือพิธีแต่งงาน เป็นคนละเรื่องกัน ตามกฎหมายแพ่งฯ จะต้องมีการจดทะเบียนกันจึงเป็นการสมรส ไม่ว่าจะมีการจัดพิธีแต่งงานหรือไม่ หรือจัดอย่างไร ไม่สำคัญเลย ต่อให้จัดพิธีแต่งงานใหญ่โต มีผู้นำทางศาสนาทำพิธีให้ แต่ถ้าไม่ไปจดทะเบียนกัน กฎหมายก็ไม่ถือว่ามีการสมรสกัน
สมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องกฎหมาย ส่วนการทำพิธีสมรสนั้นไม่ใช่ และ #กฎหมายไม่ได้มีการบังคับให้ผู้นำศาสนาต้องทำพิธีสมรสให้ ไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกัน แล้วเรื่องนี้ก็บังคับกันไม่ได้ การปฏิเสธความเท่าเทียมในการสมรสด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นเรื่องความไม่เข้าใจว่า สมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องพิธีสมรสครับ
4. ชายกับหญิงอยู่กินใช้ชีวิตร่วมกัน กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องสมรสกัน ถ้าเขาไม่ต้องการสถานะทางกฎหมายระหว่างกัน #เขาก็มีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งก็มีมากมาย การที่จะให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ #ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็น #สิทธิ ที่คนเพศเดียวกันจะทำได้อย่างเท่าเทียมกับคนต่างเพศกัน ว่าง่ายๆ คือคนสองคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันอยากจะจดทะเบียนสมรส หรือไม่อยากจดทะเบียนสมรส ก็จะเป็นเรื่องที่เสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นต่างเพศ หรือเพศเดียวกัน
5. สำหรับประเด็น #ผิดธรรมชาติ นั้น เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า #สถาบันครอบครัวเป็นเรื่องวัฒนธรรม ไม่ใช่ #เรื่องธรรมชาติ หมายความว่า ความหมายของครอบครัวจึงสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัยของสังคม แล้วโดยธรรมชาตินั้น ก็มีสปีชีส์ที่มีพฤติกรรม homosexual คือเพศเดียวกันมีอะไรกันก็มาก สปีชีส์ที่เป็น bisexual คือมีอะไรทั้งกับต่างเพศกันและเพศเดียวกันก็มี เช่น ลิงโบโนโบ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับลิงชิมแปนซี และมนุษย์ผู้อ้างเหตุผลเรื่องผิดธรรมชาติ อาจจะหมายถึงเรื่องการมีลูก คือถ้าไม่ใช่ชายกับหญิงจะมีลูกกันไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า #การมีลูก กับ #สถานะสมรสทางกฎหมาย ก็เป็นคนละเรื่องกัน คนมีลูกกันได้โดยไม่ต้องสมรส ขณะที่คนที่สมรสกันก็ไม่จำเป็นต้องมีลูก หรืออยากมีลูกแต่มีลูกไม่ได้ก็มีมาก ดังนั้นการที่คู่สมรสเพศเดียวกันมีลูกไม่ได้ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคู่สมรสชายหญิงที่มีลูกไม่ได้ จึงไม่ใช่เหตุผลในการปฏิเสธไม่ให้คนเพศเดียวกันสมรสกัน ความจริงมีข้อดีด้วยซ้ำที่จะทำให้เด็กกำพร้าได้มีโอกาสมีครอบครัวได้มากขึ้น
6. ถ้างั้นเราก็แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จนสถานะคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกันเท่าเทียมกับสถานะสมรสของคนต่างเพศกันไปเลยได้ไหม? คำตอบคือได้ แต่คำถามต่อไปคือ เราจะยอมให้คนเพศเดียวกันเสมอภาคเท่าเทียมกับคนต่างเพศในการสร้างครอบครัวไหม แล้วถ้ายอมแก้ไข พ.ร.บ.คู่ชีวิต จน “คู่ชีวิตจดทะเบียน” เท่าเทียมกับ “สมรสเท่าเทียม” แล้วจะต้องมี “คู่ชีวิตจดทะเบียน” สำหรับคนเพศเดียวกันไปทำไมอีก?
แต่ถ้าไม่ยอมให้เท่าเทียมกัน คำถามคือทำไมจึงไม่ยอมให้เท่าเทียมกัน? ในเมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” ความจริงจึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่เรียกร้องความเท่าเทียมด้วยซ้ำที่ต้องอธิบายว่าทำไมต้องทำให้เท่าเทียม แต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่ไม่ต้องการให้เท่าเทียมต่างหากที่ต้องอธิบายครับ
กล่าวโดย #สรุป ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือการออกกฎหมายใหม่ให้คนเพศเดียวกันที่อยากจะสมรสกัน ได้เป็น “คู่ชีวิตจดทะเบียน” ซึ่งด้อยกว่าสถานะ “สมรสจดทะเบียน” ของชายกับหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่งในหลายเรื่อง ในยุคสมัยที่ความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยซึ่งมีความเปิดกว้างในเรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว ก็น่าจะถึงเวลาให้มีความเท่าเทียมกันในการจดทะเบียนสมรส ดังเช่น 31 ประเทศที่ทำไปแล้ว
ดังนั้น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ให้คนทุกเพศสามารถสมรสกันได้ หรือ “สมรสเท่าเทียม” โดยไม่ต้องมีกฎหมายคู่ชีวิตหรือกฎหมายใหม่อะไรเพิ่มขึ้นมาให้เป็นการเลือกปฏิบัติให้แตกต่างกัน จึงเป็นแนวทางที่เราควรจะเลือกมากกว่าครับ"