เพจ "รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai" เผยเสียงสะท้อนจากประชนชนผู้ใช้บริการรถเมล์ ร้องหลัง 20.00 น. รถวิ่งน้อยลง ด้าน ขสมก.ยอมรับบรรดาผู้ประกอบการต้องลดเที่ยววิ่ง เหตุราคาน้ำมันพุ่ง แบกรับต้นทุนไม่ไหว
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เพจ "รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai" ได้ออกมาโพสต์เสียงสะท้อนจากประชนชนผู้ใช้บริการรถเมล์ ร้องหลัง 20.00 น.รถเมล์หายไปไหนหมด อยากให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยลงมาดู หรือลองมาใช้บริการรถเมล์กลับบ้านอย่างประชาชนดู จะได้รู้ถึงความทุกข์ ความลำบากของประชาชนผู้ใช้บริการ รถมาเต็ม! ขึ้นไม่ได้ วันไหนฝนตก ลำบากสุดๆ และรถเมล์บางเส้นทาง ขสมก.เคยมีวิ่งกะสว่าง พอขนส่งให้เอกชนมาเดินรถแทน กะสว่างกลับหายไปก็มี เพจรถเมล์ไทยแฟนคลับขอเป็นสื่อส่งเสียงสะท้อนถึงหน่วยงานที่ดูแล และผู้มีอำนาจ ช่วยสั่งการช่วยเหลือประชาชนหน่อยนะครับ เพราะประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์ไม่ได้มีรายได้สูง พอที่จะจ่ายค่าแท็กซี่ได้ทุกวัน ถ้าโพสต์นี้ถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ช่วยประชาชนด้วยครับ
คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ
ต่อมา นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ได้ออกมาชี้แจงว่า ในนามสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไทยจึงขอเป็นตัวแทนในการกล่าวขอโทษประชาชนผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถโดยสารในชีวิตประจำวัน ว่าผู้ประกอบการรถโดยสารจะพยายามยืนหยัดเพื่อเคียงข้างการให้บริการให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถดำเนินการได้ โดยระหว่างที่ยังไม่มีทางออกในการแบกรับต้นทุนนี้ อาจต้องส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบในความไม่สะดวกในการใช้บริการ
เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการต้องลดเที่ยววิ่งลงและทยอยหยุดการให้บริการในบางเส้นทาง ซึ่งเป็นทางเลือกทางสุดท้ายก่อนที่อาจต้องปิดกิจการถาวรในที่สุด และขอขอบคุณประชาชนผู้โดยสารทุกท่าน ที่เข้าใจและเป็นกำลังใจในการประกอบการเดินรถโดยสารของไทยมาโดยตลอด
นายพิเชษฐ์เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จากค่าโดยสารเมื่อปี 2562 ที่ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละประมาณ 27 บาท
จนถึง ณ เวลานี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 34 บาท ปรับเพิ่มขึ้นถึงลิตรละประมาณ 7 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเที่ยวละประมาณ 1,400 บาท โดยเฉลี่ยหากวิ่งวันละ 50 เที่ยว ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 70,000 บาท ประกอบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่ทยอยปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต้องทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพียงเพื่อให้สามารถเป็นช่องทางการเดินทางที่ประหยัด และสะดวกที่สุดแก่ประชาชน
พร้อมทั้งพยายามขอให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการใช้อัตราโครงสร้างค่าโดยสารที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นอัตราที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลไม่มีทีท่าจะให้การเหลียวแลแต่อย่างใด ขณะที่การขนส่งทางอากาศ และทางน้ำได้มีการปรับค่าโดยสารกันไปแล้วก่อนหน้านี้
คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ