รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังห่วงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระบุสภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบันมีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมาก โควิดไม่จบแค่ติดชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ พบโอมิครอน BA.4-BA.5 หลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่าเดิม
วันนี้ (10 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า "เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 522,747 คน ตายเพิ่ม 1,220 ราย รวมแล้วติดไป 538,563,604 คน เสียชีวิตรวม 6,327,685 ราย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมนี ไต้หวัน เกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา และบราซิล เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 69.15 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 63.03 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 35.01 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 23.68
สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าจำนวนติดเชื้อที่รายงานของไทยนั้นไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เพราะหลัง 1 มิ.ย. มีการประกาศปรับมารายงานเพียงจำนวนคนป่วย ไม่ใช่รายงานการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ถึงแม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม ทั้งนี้ จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 7.95% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย (อย่างไรก็ตาม หากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะพบว่าคิดเป็น 11.03%
อัปเดต Omicron BA.4 และ BA.5 ทีมงานจากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron BA.4 และ BA.5 ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Cell เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สาระสำคัญคือ การชี้ให้เห็นว่า BA.4 และ BA.5 นั้นมีการกลายพันธุ์ที่เปลือกนอกหลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ทั้งหมด และยังต่างจาก BA.1 และ BA.2 ที่เป็น Omicron พี่ๆ ที่ออกมาระบาดก่อนอีกด้วย โดยส่งผลให้ BA.4 และ BA.5 หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากกว่าเดิม ทั้งภูมิที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน และภูมิที่เกิดหลังจากติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า นอกจากนี้ยังดื้อต่อยาแอนติบอดีที่ใช้รักษามากขึ้นด้วย
สภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบันมีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมาก การใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ควรทำ โควิด...ไม่จบแค่ติดชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และจะทรมานระยะยาว หากเกิดปัญหา Long COVID"