ดร.อนันต์โพสต์ตอบข้อสงสัย เหตุใดต้องนำไวรัสที่เก็บมา 40 ปีมาทำเป็นวัคซีนฝีดาษลิง ที่สำคัญยังไม่แน่ใจด้วยว่าจะนำมาใช้ได้จริงหรือไม่
วันนี้ (2 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" หรือ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "มีคำถามเกี่ยวกับ "วัคซีนฝีดาษลิง" น่าสนใจ ถามว่าตอนนี้เรามีเทคโนโลยีหลายตัวทั้ง mRNA, viral vector, recombinant subunit ที่สามารถสร้างวัคซีนได้ไว ทำไมต้องไปนำไวรัสที่เก็บมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วมาทำเป็นวัคซีน และที่สำคัญยังไม่แน่ใจด้วยว่าจะนำมาใช้ได้จริงหรือเปล่า แบบนี้เท่ากับว่าวิทยาศาสตร์ย้อนยุคกลับไปเทคโนโลยีตั้งต้นหรือเปล่า เป็นคำถามที่ดีมากๆ
จะตอบคำถามข้อนี้ได้ชัดขึ้นคงต้องแนะนำให้รู้จักตัวไวรัสตระกูลฝีดาษลิง หรือ Poxvirus กันก่อน อนุภาคไวรัสของฝีดาษลิงมีขนาดใหญ่กว่าไวรัสโรคโควิด-19 มากพอสมควร และที่แตกต่างกันชัดเจนคือ ไวรัสโรคโควิด-19 มีกลไกการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ที่ชัด ตรงไปตรงมา ง่ายๆ คือใช้โปรตีนหนามสไปค์ที่อยู่บนผิวของอนุภาคไวรัสจับกับโปรตีนตัวรับบนผิวเซลล์ของโฮสต์ ถ้ามีวัคซีนที่ไปสร้างภูมิ หรือแอนติบอดีต่อหนามสไปค์ไปยับยั้งกระบวนการจับกันดังกล่าว คือจบ ไวรัสไปต่อไม่ได้ วัคซีนจึงมุ่งไปที่การสร้างสไปค์ให้ร่างกายรู้จัก เพื่อสร้างแอนติบอดีให้สูงๆ
แต่ไวรัสฝีดาษลิงไม่เหมือนกับโควิดหลายประการ ที่ชัดที่สุดคือ อนุภาคไวรัสตระกูลฝีดาษลิง มีอยู่ถึง 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน โดยทั้ง 2 รูปแบบสามารถติดเชื้อและสร้างเป็นไวรัสใหม่ในธรรมชาติได้ทั้งคู่ รูปแบบแรกชื่อว่า IMV หรือ MV ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง ชื่อว่า EEV หรือ EV ซึ่งทั้ง MV และ EV เป็นลักษณะของอนุภาคไวรัสที่สร้างออกมาแบบปนๆ กันจากเซลล์ที่ติดเชื้อ และพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณต่อในเซลล์ข้างเคียง หรือปลดปล่อยแพร่ไปหาคนอื่น จุดท้าทายคือ MV และ EV มีกลไกการติดเข้าสู่เซลล์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
จากภาพ MV จะมีโปรตีนอยู่บนผิวอยู่จำนวนหนึ่ง (โปรตีนสีเหลือง) ซึ่งเชื่อว่าทำหน้าที่คล้ายๆ กับสไปค์ในการจับกับโปรตีนตัวรับ โปรตีนเหล่านั้นโดยหลักการแล้วคงสามารถนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนต่อได้ แต่ EV ดันไปมีโครงสร้างของชั้นไขมันอีกหนึ่งชั้นมาหุ้ม MV ต่ออีก ซึ่งบนชั้นไขมันนั้นก็มีโปรตีนอีกชุดหนึ่ง (โปรตีนสีฟ้า) ที่ใช้ในการเข้าสู่เซลล์ได้เช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้เรายังไม่ทราบเลยว่าโปรตีนชุดสีฟ้ามีกี่ชนิด อะไรบ้าง ถึงจุดนี้คงนึกภาพออกว่า เราจะเอาอะไรไปทำเป็นแอนติเจนของวัคซีนดี โปรตีนเหลือง หรือโปรตีนฟ้า หรือ ทั้งคู่ และมีโปรตีนอะไรบ้างที่ต้องเอามาใส่ในวัคซีนถึงจะพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ วันนี้ยังไม่มีคำตอบ
วิธีการที่ดีที่สุดคือ เลียนแบบธรรมชาติ เราไม่ทราบว่ามีโปรตีนอะไรบ้างที่พอจะสร้างภูมิ แต่ธรรมชาติให้ไวรัสที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง เพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิข้ามสายพันธุ์มาป้องกันไวรัสฝีดาษลิง หรือฝีดาษคนในระดับสูงได้ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการใช้ไวรัสตามธรรมชาติดังกล่าว แต่ด้วยคุณสมบัติที่อ่อนเชื้อลงในระดับที่รับได้ จึงทำให้ไวรัสเก่าแก่กว่า 40 ปี ยังต้องเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่ครับ"