ทนายตั้มโพสต์หัวข้อ "เป็นพลเมืองดียังไงให้ไม่ซวย" กรณี "เคนลี เทคมีเอาท์ฯ" ฟ้องพลเมืองดีเผยแพร่คลิป อ้างกฎหมาย PDPA ระบุถ่ายคลิปเป็นหลักฐานไม่ต้องขอความยินยอม แต่ระวังโพสต์ลงโซเชียลฯ อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท หรือกฎหมายใหม่ ยกเว้นเซ็นเซอร์แล้ว แนะส่งให้ตำรวจดีสุด ด้านตำรวจสอบสวนกลางเผย 4 วิธีช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว
วันนี้ (10 มิ.ย.) จากกรณีที่ในโลกโซเชียลฯ มีการแชร์คลิปหนุ่มรายหนึ่งลากแฟนสาวไปทำร้ายร่างกาย กระทั่งตะโกนเรียก รปภ. ระหว่างนั้นชายหนุ่มรายนี้พยายามหาเรื่องพลเมืองดี ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาไกล่เกลี่ย เหตุเกิดที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านถนนอโศก-ดินแดง ใกล้สี่แยกพระราม 9 แขวงและเขตดินแดง กรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าชายที่ทำร้ายร่างกายผู้หญิง ทราบชื่อคือ นายเคนลี อธิคุณ อายุ 26 ปี อดีตผู้เข้าประกวดรายการเทคมีเอาท์ ไทยแลนด์ จะเข้าลงบันทึกประจำวันแจ้งความต่อพลเมืองดีที่ถ่ายคลิปเอาไว้ และให้ลบคลิปดังกล่าว โดยอ้างว่าละเมิดสิทธิ ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นที่วิจารณ์ในโลกโซเชียลฯ จำนวนมาก
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อบ่ายวานนี้ (9 มิ.ย.) พลเมืองดี ทราบชื่อคือ น.ส.ศศิมา เทียมตรี หรือตาล อายุ 28 ปี และ น.ส.พิรุณรุ้ง พยัคฆ์กุล หรือโฟน อายุ 20 ปี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เพื่อให้ปากคำ โดยมีนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง นักธุรกิจเจ้าของร้านบะหมี่จอมพลัง และคนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมด้วยนายกฤษฎา โลหิตดี หรือทนายโนบิ ทนายความชื่อดังให้การช่วยเหลือทางคดี กระทั่งช่วงเย็น นายเคนลีได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องคดีความ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ต่างฝ่ายต่างขอโทษซึ่งกันและกัน นายเคนลียอมรับผิดในสิ่งที่ทำ ส่วน น.ส.ศศิมาได้ให้อภัยและขอร้องว่าอย่าทำแบบนี้กับใครอีก ถ้าผ่านไปด้วยดีจะลบคลิปให้ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
ก่อนหน้านี้ น.ส.พิรุณรุ้ง ซึ่งเป็นพลเมืองดี ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า จุดประสงค์ที่ลงไปห้ามพร้อมกับเพื่อนเพราะต้องการช่วยเหลือผู้หญิง ไม่ได้อยากมีปัญหากับใคร ส่วนที่มองว่าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวนั้นก็พร้อมน้อมรับ ยืนยันว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ก็จะช่วยเหลือเหมือนเดิม และหากฝ่ายหญิงต้องการไกล่เกลี่ยพร้อมจะพูดคุยและลบคลิปให้
ด้านเฟซบุ๊ก "ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ" ของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ทนายความชื่อดัง โพสต์ข้อความหัวข้อ "เป็นพลเมืองดียังไงไม่ให้ซวย" ระบุว่า "การบันทึกภาพหรือคลิปวิดีโอเพื่อเป็นหลักฐานทางคดี ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมใดๆ ครับ แต่การนำมาโพสต์อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หรือกฎหมายใหม่ PDPA ยกเว้นแต่ว่าเซ็นเซอร์หน้าบุคคลอื่นให้เป็นบุคคลนิรนามก่อน คำแนะนำคือหากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือเป็นพยานในเหตุอาชญากรรมใดๆ สามารถบันทึกภาพและวิดีโอเพื่อนำเป็นหลักฐาน และส่งเจ้าหน้าที่ดีที่สุด แบบนี้สามารถดำเนินคดีได้ โดยไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนด้วยนะครับ"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ส่วนเฟซบุ๊ก "ตำรวจสอบสวนกลาง" ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โพสต์ข้อความหัวข้อ "เรื่องของผัว-เมีย คนอื่นอย่ายุ่งจริงหรือ?" ระบุว่า "เวลาที่เราเห็นสามีภรรยาทะเลาะกัน มักจะได้ยินคำว่า “เรื่องของผัว-เมีย คนอื่นอย่ามายุ่ง” เจอแบบนี้ไป น้อยคนนักที่จะกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า การทำร้ายร่างกายระหว่างสามีภรรยานั้นไม่ใช่เรื่องปกติ
เพื่อหยุดความรุนแรงที่อาจจะบานปลายกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าได้ ทางสอบสวนกลางขอแนะนำวิธีช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของ “ความรุนแรงในครอบครัว” เบื้องต้น มาฝากกันครับ
วิธีช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของ “ความรุนแรงในครอบครัว” เบื้องต้น
1. เข้าสังเกตการณ์ เพื่อให้รู้ว่ามีคนคอยช่วยเหลือเหยื่อหรือไม่ หรือมีการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายด้วยหรือเปล่า
2. เข้าไปตักเตือน ทั้งนี้ต้องดูความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือด้วย
3. หากมีความเสี่ยง ไม่สามารถรับมือได้ ควรเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่บริเวณนั้น เข้าให้ความช่วยเหลือร่วมด้วย
4. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ให้การเข้าช่วยเหลือไม่ให้เกิดความรุนแรงอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย
หากพบเห็นการทำร้ายร่างกาย หรือการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอกครอบครัว เราต้องช่วยกันยับยั้ง และช่วยเหลือเหยื่อ ไม่ให้เหตุการเหล่านี้เกิดขึ้น ด้วยความปรารถนาดีจากสอบสวนกลาง"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่