นายเดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยกเดนมาร์กโมเดล รัฐบาลทำงานร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ชี้กลไกนี้อาจเริ่มต้นในกรุงเทพมหานครก่อนก็เป็นได้
วันนี้ (23 พ.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Decharut Sukkumnoed" ของนายเดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นรัฐบาลทำงานร่วมเพื่อ ปชช.ได้แม้ต่างพรรค โดยได้ยกต้นแบบมาจากประเทศเดนมาร์ก โดยนายเดชรัตได้ระบุข้อความว่า
"สัปดาห์ก่อนผมได้พบหารือกับพรรคสังคมประชาธิปไตยของเดนมาร์ก ได้คุยกันหลายเรื่องเลย และสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากระบบการเมืองของเดนมาร์กคือ การสร้างฉันทามติหรือข้อตกลงร่วมกันของสังคม
ด้วยระบบการเลือกตั้งและรัฐสภาของเดนมาร์กที่เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (กล่าวแบบย่อ) จะทำให้เดนมาร์กได้รัฐบาลผสมแบบหลายพรรคตลอดมา แต่รัฐสภาและรัฐบาลแบบหลายพรรคไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อความเข้มแข็งของรัฐบาล/สังคมเดนมาร์กมากนัก ก็เพราะ ระบบฉันทามติ หรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างพรรคการเมือง “เป็นรายประเด็น”
การทำข้อตกลงหรือการแสวงหาประชามติดังกล่าวจะทำแบบเปิดเผย และแยกแยะเป็นรายประเด็น ถ้าจะยกตัวอย่างในกรณีแบบไทยๆ ก็เช่น (ก) สมรสเท่าเทียม (ข) สุราเสรี (ค) สวัสดิการถ้วนหน้า VS ความยากจนพุ่งเป้า (ง) พลังงานหมุนเวียน ฯล ถ้าในตัวอย่างของเดนมาร์กก็เป็นนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพจากยูเครน เป็นต้น โดยแต่ละพรรคจะมีจุดยืนของตนในแต่ละประเด็น และประกาศพร้อมทำข้อตกลงและร่วมมือกับพรรคอื่นๆ ในประเด็นนั้น
การประกาศจุดยืนและการแสวงหาข้อตกลงร่วมกันจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง และจะเข้มข้นอีกครั้ง เมื่อจะต้องจัดตั้งรัฐบาล (ผสม) เพราะพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล (มาถึงมาเป็นรัฐมนตรี) ย่อมต้องมีจุดยืนที่ใกล้เคียงกัน และพร้อมผลักดันร่วมกันในหลายๆ ประเด็น ซึ่งก็มีนัยว่านโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลตกลงกันได้นั้น ก็น่าจะประสบผลสำเร็จไม่ยากนัก
ความน่าสนใจเพิ่มเติมของระบบการเมืองแบบเดนมาร์กยังมีเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ (ก) เดนมาร์กมีพรรคที่ประกาศสนับสนุนรัฐบาลแต่ไม่เข้าร่วมรัฐบาลด้วย (ข) พรรคการเมืองเดนมาร์กมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล (บางพรรค) กับพรรคฝ่ายค้าน (บางพรรค) ในแต่ละประเด็นนโยบายที่เห็นตรงกันด้วย และ (ค) มีประเด็นนโยบายบางอย่างที่ทุกพรรคเห็นตรงกันหมดด้วย เช่น ระบบรัฐสวัสดิการ
แน่นอนว่า ข้อตกลงทุกอย่างเป็นการประกาศที่ชัดเจนต่อสาธารณะ และข้อตกลงต่างๆ จะต้องไม่ขัดต่อคุณค่าหลัก/แนวทางหลักของพรรคนั้น มิฉะนั้น พรรคนั้นก็จะสูญเสียฐานคะแนนนิยมได้ในอนาคต สิ่งหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลไกนี้คือ ภาคประชาสังคม และประชาชนที่เข้มแข็ง ในการติดตาม/ผลักดันประเด็นทางสังคมรายประเด็น โดยสามารถแสวงหาความร่วมมือกับผู้คนในสังคม และร่วมมือกับพรรคการเมืองต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
ผมเคยเห็นในบางประเทศ ที่ภาคประชาสังคมไปสนับสนุนการทำรัฐประหาร เพียงเพราะจะผลักดันประเด็นเฉพาะที่ตนทำงานอยู่เท่านั้น โดยไม่สนใจต่อเสียงของภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่จะต้องถูกจำกัด/ควบคุมโดยคณะรัฐประหารและผู้สืบทอด
ผมชอบแนวทางและกลไกแบบนี้ เพราะ (ก) เป็นกลไกที่เปิดเผย (ข) ชัดเจนในหลักการ (ค) ยืดหยุ่นในการดำเนินการ (ง) พร้อมรับทุกเสียงอย่างแท้จริง เพราะเแม้จะเป็นฝ่ายค้านก็อาจจะยังผลักดันนโยบาย (บางด้าน) ของตนเองได้ ผ่านการร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาล (บางพรรคหรือทุกพรรค) และสุดท้าย ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ สาธารณชน โดยไม่ต้องติดกับว่า พรรคของตนอยู่ในสภาวะใด (ฝ่ายรัฐบาล/ฝ่ายค้าน) และจะร่วมมือกับใครได้บ้าง
ผมเชื่อว่า ถ้าการเมืองไทยมีกลไกแบบนี้ พรรคการเมืองต่างๆ จะขยันทำงานนโยบายมากขึ้น และมีเวลาในการทำงานนโยบายมากขึ้น และสามารถทำงานนโยบายได้อย่างกว้างขวาง และเปิดเผย พร้อมๆ กับการลดทอนความรู้สึกเป็นฝ่ายตรงข้าม/คู่แข่งไปด้วยในตัว บางทีกลไกแบบนี้อาจเริ่มต้นในระดับกรุงเทพมหานครก็เป็นได้นะครับ"