xs
xsm
sm
md
lg

ซูเปอร์โพลเผยกว่า 95% ไม่เอาโฆษณาลาซาด้า ดูแคลนศรัทธาคนไทย-คนพิการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ เรื่อง บทเรียนลาซาด้า กับ ศรัทธาของประชาชน พบกว่า 95% ไม่เห็นด้วยกับโฆษณา ดูแคลนศรัทธาคนไทย ทั้งสถาบันหลักและคนพิการ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายมากกว่าที่เป็นอยู่

วันนี้ (9 พ.ค.) ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (Super Poll) เสนอผลสำรวจ เรื่อง บทเรียนลาซาด้า กับ ศรัทธาของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,171 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6-7 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.9 ระบุไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาของลาซาด้าตามที่เป็นข่าว โดยเป็นการดูแคลนศรัทธาของคนไทยทั้งสถาบันหลักของประเทศและคนพิการ

นอกจากนั้น ร้อยละ 95.5 ระบุการโฆษณาลาซาด้า เป็นการเหยียดหยาม ล้อเลียนคนพิการ ลดทอนและด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และร้อยละ 95.5 เช่นกัน ระบุการโฆษณาลาซาด้าเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายที่ต้องพิทักษ์รักษาเสาหลักของชาติ เป็นการเสียดสีล้อเลียน กระทบศรัทธาของคนไทย

ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 98.2 ระบุ ต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีและการใช้สื่อ สอดส่องดูแล บังคับใช้กฎหมายกับแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดียอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการละเมิดกฎหมายหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ที่น่าสนใจ ร้อยละ 96.3 ระบุ เหตุที่เกิดขึ้น ควรร่วมแสดงจุดยืนที่ถูกต้องและร่วมใช้มาตรการทางสังคม ออกมาปกป้องเสาหลักของชาติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการ หรือการกระทำที่ขัดกับศีลธรรมจรรยา และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.3 ระบุ ต้องการให้ลาซาด้าและผู้เกี่ยวข้องออกมาแสดงจุดยืนถึงสามัญสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่ร้อยละ 91.5 ระบุ สมควรที่จะสั่งปิดลาซาด้า เป็นตัวอย่างการลงโทษที่ประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้พิการและศรัทธาคนไทย

ผศ.ดร.นพดลกล่าวว่า ผลสำรวจปรากฏการณ์ลาซาด้า ตามที่เป็นข่าว สะท้อนถึงกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการทำธุรกิจที่ไม่ยึดกรอบศีลธรรม ขาดจรรยาบรรณและสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การใช้สิทธิและเสรีภาพในการทำธุรกิจ ที่เลยกรอบกฎหมาย ขาดศีลธรรม รวมทั้งไม่ใส่ใจรับรู้และทำหน้าที่ของคนไทยตามกฎหมายโดยเฉพาะการก้าวล่วงศรัทธาคนไทยต่อสถาบันหลักของชาติและการด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้พิการ เป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ โดยต้องการเห็นลาซาด้าและผู้เกี่ยวข้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่

ที่สำคัญ อยากเห็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอดส่องกำกับดูแลการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดียมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่เห็นถึงความเข้มแข็งของสังคมร่วมเคลื่อนไหว ตื่นตัว ตระหนักรู้และมีส่วนร่วมต่อปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการทางกฎหมายและมาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบ ทำผิดซ้ำซากเกิดขึ้นตามทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) โดยเฉพาะการด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศรัทธาของผู้อื่นโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง

คำถามที่ 1 : ความคิดเห็นต่อบทเรียนโฆษณาลาซาด้า

ร้อยละ 95.9 ไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาของลาซาด้าตามที่เป็นข่าว โดยเป็นการดูแคลนศรัทธาของคนไทยทั้งสถาบันหลักของประเทศ และคนพิการ

ร้อยละ 95.5 การโฆษณาลาซาด้า เป็นการเหยียดหยาม ล้อเลียนคนพิการ ลดทอนและด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ร้อยละ 95.5 การโฆษณาลาซาด้า เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายที่ต้องพิทักษ์รักษาเสาหลักของชาติ เป็นการเสียดสีล้อเลียน กระทบศรัทธาของคนไทย

คำถามที่ 2 : ความต้องการจากบทเรียนโฆษณาลาซาด้า

ร้อยละ 98.2 ต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีและการใช้สื่อ สอดส่องดูแล บังคับใช้กฎหมายกับแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดียอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการละเมิดกฎหมายหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ร้อยละ 96.3 เหตุที่เกิดขึ้น ควรร่วมแสดงจุดยืนที่ถูกต้องและร่วมใช้มาตรการทางสังคม ออกมาปกป้องเสาหลักของชาติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการ หรือการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมจรรยา

ร้อยละ 95.3 ต้องการให้ลาซาด้าและผู้เกี่ยวข้อง ออกมาแสดงจุดยืนถึงสามัญสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

ร้อยละ 91.5 สมควรที่จะสั่งปิดลาซาด้า เป็นตัวอย่างการลงโทษที่ประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้พิการและศรัทธาคนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น