สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนา “Blockchain Technology and Digital Economy กับการเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศ” ปลุกพลังคนไทยพร้อมรับเทคโนโลยี Blockchain ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชูนโยบายสร้างคนพร้อมใช้แบบไร้ปริญญา (Non Degree Program) ลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบัน เน้นสร้างพื้นที่ทดลองการเรียนรู้แบบ Sandbox
5 พฤษภาคม 2565
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนา Brainpower Symposium ในหัวข้อ “Blockchain Technology and Digital Economy กับการเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศ” ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในการเตรียมกำลังคนในยุคที่มีการเกิดของเทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain และระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า Blockchain นั้นแท้จริงแล้วเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช่มีความสำคัญแก่ภาคการเงินเท่านั้น แต่คือ รูปแบบหนึ่งในการจัดเก็บ ถ่ายทอด รวมถึงประมวลผลข้อมูลที่มีเอกลักษณ์และมีประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย ดังนั้น จึงมีการประยุกต์ไปใช้กับระบบต่าง ๆ เช่น การแพทย์ เกมและซอฟต์แวร์ ระบบควบคุมพลังงาน ระบบการขนส่งสินค้า เป็นต้น
เทคโนโลยีดังกล่าวนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนและส่งผลกระทบในหลายวงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของกำลังคนของประเทศให้พร้อมและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้งาน แต่เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปได้ เวทีเสวนาในวันนี้จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดที่นำไปสู่การพัฒนาและการวางแผนพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ให้สอดรับกับเทคโนโลยี Blockchain และเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป
ในขณะที่ ศ. ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง Blockchain รวมถึงเรื่อง Cryptocurrency หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่สังคมกำลังให้การเฝ้ามอง ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านการเงินที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐ และ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง อว. กับการสร้างความมั่นคง ความมั่นใจ รวมถึงความปลอดภัย ให้กับประชาชน ต่อการใช้บริการเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ทั้งในส่วนของการกำหนดนโยบาย สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยี ที่มีความแม่นยำ และทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ รวมถึง การพัฒนาคน ที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่พึงประสงค์ที่จะเข้ามาสร้างเทคโนโลยี และจัดการเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างการตระหนักรู้ เรื่องเทคโนโลยีให้รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทัน โดยผ่านกลไกที่ทางกระทรวง อว. ให้ความสำคัญได้แก่ 1) การพัฒนากำลังคน ผู้ใช้งานกำลังคนต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน 2) ใช้กลไก Higher Education Sandbox เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทั้งสถาบัน ผู้เรียน และผู้สอน 3) มุ่งเน้นทักษะที่พึงประสงค์ผ่าน Non-Degree Program เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนผ่านการ Re-skill/Up-Skill ให้ตอบสนองทันต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับนโยบายด้านการเตรียมกำลังคนที่ทาง อว. มุ่งเน้นในปัจจุบัน คือการออกแบบการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียนและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบไร้ปริญญา (Non Degree Program) แต่สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บูรณาการเรียนรู้ข้ามสถาบัน กล่าวคือให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนในสาขาที่สนใจเพื่อนำมาประยุกต์ใช้จริงได้ แม้จะเป็นของต่างสถาบันหรือมหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้ อว. ยังมุ่งเน้นด้าน ‘Higher Education Sandbox’ หรือ การสร้างพื้นที่ทดลองใช้กระบวนการต่าง ๆ เพื่อพัฒนากำลังคนให้เหมาะสม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกยุคดิจิทัล