xs
xsm
sm
md
lg

มาแรงแซงทุกโค้ง "พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล" ว่าที่อธิการบดี ม.เชียงใหม่คนที่ 16

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีมติเห็นชอบเสนอชื่อ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดี แต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนที่ 16 พบมาแรงแซงทุกโค้ง แม้สโมสรนักศึกษาจะจัดหยั่งเสียงแล้ว "อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี" ชนะก็ตาม แต่สภาฯ ยังคงใช้วิธีการสรรหาตามข้อบังคับ

วันนี้ (23 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีมติเห็นชอบในการเสนอชื่อ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนที่ 16 ต่อไป

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (นิติเวชศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล Doctor of Philosophy (Pharmacology /Toxicology), The Ohio State University, Ohio, USA. และได้รับอนุมัติบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขานิติเวชศาสตร์แพทยสภา

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปฏิบัติหน้าที่เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ เช่น รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าศูนย์/ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ได้นำความรู้ไปปฏิบัติงานในการเป็นกรรมการและอนุกรรมการทั้งในระดับนานาชาติ และระดับชาติ เช่น External Advisory Board of The Ohio State Global One Health initiative (GOHi), Ohio State University, USA อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (พ.ศ. 2561-2564) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานเครือข่ายรองอธิการบดีฝ่ายการคลังและทรัพย์สิน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประธานเครือข่ายรองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

คณะอนุกรรมการกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2574) และแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 12 ตลอดจนนำวิชาชีพไปช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยทีมนำอาสาสมัครแพทย์ ทันตแพทย์ จิตอาสาออกหน่วยและช่วยสาธารณกุศล เช่น ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ในนามมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาโดยตลอด

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะดำรงตำแหน่งครบกำหนด 4 ปี 2 วาระ ในวันที่ 24 ก.ค. 2565 สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เพื่อดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้เปิดรับสมัครผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2565-2569 ระหว่างวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ถึง 5 ม.ค. 2565 และเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 6-7 ม.ค. 2565

ปรากฏว่าในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการสรรหาอธิการบดี 4 คน ได้แก่ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดี, ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ และ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ โดยมีความเคลื่อนไหวให้มีการแสดงวิสัยทัศน์และเปิดโอกาสให้มีการหยั่งเสียงในการสรรหาอธิการบดี แต่สภามหาวิทยาลัยยืนยันว่าต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ไม่ใช้การเลือกตั้ง แต่ให้ใช้วิธีการสรรหาตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย

แม้สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดงานแสดงวิสัยทัศน์ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจัดการหยั่งเสียงผ่านระบบออนไลน์ โดยมีกลุ่มบุคลากรสายวิชาการ 80 คน บุคลากรสายสนับสนุน 58 คน นักศึกษา 1,237 คน พบว่าเลือก ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี 516 คน ตามมาด้วย รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 441 คน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล 368 คน และ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล 38 คน แต่สภามหาวิทยาลัยมองว่า สัดส่วนผู้มาหยั่งเสียงมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยทั้งหมด จึงไม่สามารถนำมาเป็นความคิดเห็นส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยได้

อ่านประกอบ : เปิดข้อเท็จจริงกระบวนการสรรหา-หยั่งเสียงอธิการ มช. ยันไม่ถือเป็นความเห็นส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย


กำลังโหลดความคิดเห็น