xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เตรียมชงเอเปกหารือแผนการขับเคลื่อน FTAAP ชูโมเดล BCG-พัฒนาแอปฯ ช่วยผู้ประกอบการ หนุนเศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปี 2565 ไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกอีกครั้ง ในรอบ 20 ปี ในปีนี้มุ่งเน้นผลักดันผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “OPEN. CONNECT. BALANCE.” โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดัน 2 เรื่องสำคัญ คือ “การขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในยุคโควิด-19 และอนาคต” และ “โครงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของเขตเศรษฐกิจสำหรับ MSMEs ที่เป็นมิตรต่อแวดล้อมและมีนวัตกรรม ผ่านการใช้โมเดล BCG Economy”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักของไทยที่รับผิดชอบประเด็นการค้าการลงทุนของเอเปก มีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปก ที่เดินทางเข้ามาร่วมประชุมครั้งแรก ในช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่ WTO เข้าร่วมการประชุมอีกด้วย

โดยในวันที่ 19 พฤษภาคม จะเป็นการสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Symposium on FTAAP) เพื่อส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนไทยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ของเอเปก สำหรับวันที่ 20 พฤษภาคม เป็นงานเสวนานานาชาติ “BCG Symposium” ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ และจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) กับ BCG นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม App Challenge ซึ่งเป็นการจัดประกวดแข่งขัน Application เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยในปีนี้ กำหนดโจทย์การพัฒนา Application เพื่อช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรในเอเปคสามารถต่อยอดด้านเกษตรและอาหาร และสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดท้องถิ่นและตลาดส่งออก

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565 เพื่อร่วมกันผลักดันและกำหนดทิศทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO การหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องการขับเคลื่อน FTAAP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกับโควิด-19 และการมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งจะสะท้อนหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย “Open. Connect. Balance.”

นางอรมน เสริมว่า เอเปกให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลดและยกเลิกอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของ MSMEs ให้เข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ เป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และคาดว่าผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคจะช่วยวางแนวทางฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังยุคโควิด-19 ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล

“อยากจะให้ประชาชนมองว่า เรื่องเศรษฐกิจการค้าเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ซึ่งในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม จะผลักดันเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมถึงสมาชิกเขตเศรษฐกิจด้วย โดยจะเน้นการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น และส่วนหนึ่งจะเน้นให้ผู้ประกอบการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนนโยบายการค้าและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการนำแอพพลิเคชั่นมาช่วยด้านการเกษตร” นางอรมน กล่าว

จะเห็นได้ว่า ภาพรวมการขับเคลื่อนความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจของไทยได้ประโยชน์ อาทิ การเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกยิ่งขึ้น การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นวัตกรรมทางดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพและขยายโอกาส ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน












กำลังโหลดความคิดเห็น