หลังจากได้รับชัยชนะจากการต่อสู้เพื่อขจัดความยากจนแล้ว จีนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบทอย่างรอบด้าน เพื่อเร่งการพัฒนาของชนบท ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น สร้างสรรค์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเมืองกับชนบท และมุ่งที่จะบรรลุความทันสมัย ทั้งการเกษตรและชนบทในปี 2035
ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบท วางจุดสำคัญอยู่ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในชนบท เพราะว่ามีแต่อุตสาหกรรมการผลิตเจริญรุ่งเรืองขึ้นแล้ว รายได้ของบรรดาเกษตรกรจึงจะสามารถเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงได้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งที่จะยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตในชนบท เร่งพัฒนาห่วงโซ่การผลิตด้านการเกษตรโดยจากไร่นาไปอยู่บนโต๊ะอาหารให้ทันสมัยขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตที่จะพัฒนาก่อนในชนบทมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร การท่องเที่ยว และ อี-คอมเมิร์ซ โดยจะประกันให้อุตสาหกรรมการผลิตในชนบทไม่เพียงแต่จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งยังต้องมีคุณภาพและมีความยั่งยืน จีนจะใช้ “ปฏิบัติการธุรกิจหมื่นรายสร้างความเจริญรุ่งเรืองในหมู่บ้านหมื่นแห่ง”
โดยจะรณรงค์ให้ธุรกิจภาคเอกชนไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่มีเอกลักษณ์ในพื้นที่ที่ได้พ้นจากความยากจนใหม่ๆ พัฒนาการก่อสร้างสาธารณูปโภค และยกระดับการบริการสาธารณะในชนบท เพื่อระดมให้ทรัพยากรต่างๆ เป็นประโยชน์แก่ชนบทมากยิ่งขึ้น
เกษตรกรเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบท ดังนั้น จีนจะให้ความสำคัญต่อการอบรมเกษตรกร เพื่อให้บรรดาเกษตรกรรักการทำไร่ไถนา มีเทคนิค และทักษะอาชีพ อีกทั้งจะใช้นโยบายพิเศษด้านบุคลากร การคลัง และการเงินเพื่อดึงดูดบุคลากรด้านต่างๆ ไปทำงานในชนบท นอกจากนี้ จีนยังวางแผนจะจัดส่งครูบาอาจารย์ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผู้ให้บริการทางสังคม เป็นต้น จำนวนหนึ่งแสนคนไปยังเขตที่พ้นจากความยากจนใหม่และเขตชนกลุ่มน้อยที่อยู่ห่างไกลทุกปี
ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบท ยังเน้นว่า ไม่เพียงแต่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในชนบทเท่านั้น หากยังจะสร้างจิตวิญญาณในชนบทอีกด้วย ไม่เพียงแต่จะพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังจะสร้างสรรค์อารยธรรมและวิถีชีวิตแบบใหม่อีกด้วย ซึ่งรวมถึงการรักษาและสืบสานเอกลักษณ์ของชนเผ่าต่างๆ และพื้นที่ต่างๆ โดยจะพัฒนาวัฒนธรรมการเกษตรดั้งเดิมแบบเรียบง่ายกับอารยธรรมที่ทันสมัยอย่างกลมกลืนกัน พัฒนาหมู่บ้านและอำเภอเก่าแก่โบราณที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พัฒนาหมู่บ้านของชนกลุ่มน้อย คุ้มครองที่อยู่อาศัยดั้งเดิม คุ้มครองโบราณสถานและโบราณวัตถุในชนบท ตลอดจนมรดกวัฒนธรรมในชนบท เผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทั่วถึงชนบท อีกทั้งให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเยาชนในชนบทด้วย
เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบท สหพันธ์สตรีอำเภอจื่อจิน มณฑลเหอเป่ย ได้ใช้ปฏิบัติการทำความสะอาดหมู่บ้านในชนบทแบบ “1+10+100” โดยเจ้าหน้าที่สหพันธ์สตรีหนึ่งคนไปกำกับดูแลสุขอนามัยของ 10 ครอบครัว เพื่อให้ 10 ครอบครัวดังกล่าวได้มาตรฐานสุขอนามัยใน 4 ด้าน 100% ได้แก่ มีความสวยงามทั้งภายในและนอกบ้าน จัดวางสิ่งของให้มีระเบียบเรียบร้อย ให้ระบบร่องในหมู่บ้านคล่องตัว โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง และเลี้ยงสัตว์อย่างมีระเบียบวินัย
ระบบนิเวศเป็นความเหนือกว่าและเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชนบท การรักษาระบบนิเวศจึงเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบท จีนจะใช้ปฏิบัติการต่างๆ ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศในชนบท ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ปฏิบัติการการใช้ฟางอย่างครอบคลุมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปฏิบัติการใช้ฟิล์มพลาสติก เพื่อการเกษตรอย่างหมุนเวียน ปฏิบัติการใช้ปุ๋ยคอกให้เป็นประโยชน์ตามพื้นที่เลี้ยงสัตว์และเลี้ยงสัตว์ปีก พัฒนาอำเภอตัวอย่างด้านการขจัดมลพิษทางการเกษตรจำนวน 200 แห่ง ในพื้นที่ที่ไวต่อสิ่งแวดล้อมตามลุ่มแม่น้ำฉางเจียง และแม่น้ำเหลือง ขณะเดียวกัน รณรงค์ให้ชนบทเร่งฟื้นฟูบูรณะความเสียหายจากการใช้ที่ดินและน้ำ ซึ่งรวมถึงมลพิษที่ดิน และการใช้น้ำใต้ดินมากเกินควร เป็นต้น
ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบท ยังรวมถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลในชนบท โดยจะเร่งประยุกต์ใช้ข้อมูลข่าวสารการควบคุมทางไกลจากดาวเทียมด้านการเกษตรและชนบท โดยให้การผลิตทางการเกษตร ชลประทาน ทางหลวง การกระจายไฟฟ้า โลจิสติกส์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชนบทล้วนเป็นแบบดิจิทัลและอัจฉริยะ
กล่าวสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบท ก็เพื่อให้การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีอนาคตสดใส ให้เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีแรงดึงดูด ให้ชนบทสวยงามยิ่งขึ้น และให้ผู้ที่ใช้ชีวิตในชนบทอยู่เย็นเป็นสุข
เขียนโดย โจว ซวี่ ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)