นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 โดยหนึ่งในมาตรการหลัก คือ การเร่งขยายช่องทางการกระจายผลไม้ให้กับเกษตรกร โดยการผนึกกำลังพันธมิตรจากหลายภาคส่วน
อาทิ สถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง ห้างท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ เคหะชุมชน ตลาดต้องชม รวมไปถึงการเปิด Pre-Order ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ให้สามารถกระจายผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันเป็นช่วงปลายฤดูการผลิตของมะม่วงมันพันธุ์ฟ้าลั่น และเพชรบ้านลาด ซึ่งผลผลิตในช่วงนี้มีลักษณะแก่จัด เกษตรกรจำเป็นต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดในปริมาณมาก กรมการค้าภายใน จึงได้เร่งดำเนินการรับซื้อ เพื่อกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตตั้งแต่ต้นฤดูการผลิตซึ่งจากการรับซื้ออย่างต่อเนื่องในราคานำตลาดส่งผลให้เกษตรกรมีความพอใจในราคาเป็นอย่างมาก
โดยในวันนี้ (31 มี.ค.65) กรมฯ ได้ร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน พีที ในการช่วยเหลือเกษตรกรกระจายผลผลิตมะม่วงมัน พันธุ์ฟ้าลั่น และเพชรบ้านลาด เกรดคละจากกลุ่มเกษตรกร จ.พิจิตร และพิษณุโลก ปริมาณรวม 500 ตัน โดยรับซื้อในราคา 5 บาท ซึ่งเป็นราคานำตลาด (ราคาตลาดอยู่ที่ 3-4 บาท) คงที่จากปี 2564 เพื่อนำมามอบเป็นของสมนาคุณให้แก่ผู้ใช้บริการในปั๊มน้ำมัน “เป็นผลสด” และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปแปรรูปเป็นมะม่วงกวน หรือที่เรียกกันว่า “ส้มลิ้ม” จัดเป็นของสมนาคุณอีกครั้ง ให้แก่พี่น้องประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว และแวะเติมน้ำมันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรจะมีช่องทางการจำหน่ายตลอดฤดูกาลผลิต โดยกรมฯ ช่วยสนับสนุนค่าบริหารจัดการ
ด้านนายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พีที มีความยินดีให้การสนับสนุนกรมการค้าภายในในการดำเนินการกระจายผลผลิตภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งนี้ สำหรับมะม่วงมัน พันธุ์ฟ้าลั่น และเพชรบ้านลาด จะเริ่มแจกตั้งแต่วันนี้ 31 มี.ค.ไปจนถึง 2 เม.ย. หรือจนกว่าของจะหมด กว่า 200 สาขา ในกรุงเทพ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และสำหรับ “ส้มลิ้ม” จะเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 12 เม.ย. 65 หรือจนกว่าของจะหมด กว่า 600 สาขา ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเห็นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงได้อย่างมาก
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ มั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกข้างต้น จะช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ลดปัญหาผลไม้ล้นตลาด และสามารถรักษาเสถียรภาพราคามะม่วงให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้ตลอดฤดูกาลผลิต ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้นตามไปด้วย