xs
xsm
sm
md
lg

เพจดังยกให้ “ปุ้มปุ้ย-กวินท์” เป็นครอบครัวต้นแบบ ในเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง" โพสต์แสดงความคิดเห็นและชื่นชมครอบครัวของ “ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา” และ “กวินท์ ดูวาล” ยกให้เป็นครอบครัวต้นแบบในเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูก”

จากประเด็นดรามาร้อนแรงในโลกออนไลน์วิจารณ์กันหนัก กรณีเกรียนคีย์บอร์ดเข้าไปแสดงความคิดเห็นถึง “น้องไซอันบลู สกาย ดูวาล” ลูกชาย “ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา” และ “กวินท์ ดูวาล” ด้วยข้อความที่รุนแรง ทั้งการที่ไม่ให้เห็นหน้าลูกเป็นความเวอร์วัง, ลูกหน้าไม่เหมือนพ่อ? หรือลูกปากแหว่ง? และที่แรงสุดบอกว่า อย่าโชว์เถอะหน้าลูกรำคาญเยอะ ลูกเทวดามาเกิด เก็บหน้าไว้ทำทีเดียวงานศพ ซึ่งทำสาวปุ้มปุ้ยปรี๊ดแตก บอก เดน, อย่าลบ จะเอาให้ร้องขอชีวิต

ต่อมา “ทนายนิด้า ศรันยา หวังสุขเจริญ” ที่ออกมาเผยถึงเรื่องนี้ว่า “สังคมไทยคนขี้เสื-กเยอะ ถึงขนาดว่าต้องมาพิมพ์ด่า “ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา” ในเรื่องการเลี้ยงลูกของเขาเลยเหรอ ทั้งที่ก็เป็นสิทธิโดยแท้ของเขา และเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มี.ค. เพจ "นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง" ได้ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นและชื่นชมครอบครัวของ “ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา” และ “กวินท์ ดูวาล” ในฐานะของนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานคุ้มครองเด็ก นี่คือ “ต้นแบบ” ที่น่าชื่นชมของการเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ ที่เราอยากรณรงค์ให้ทุกคนเข้าใจเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูก”

แม้เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่อาจจะเคยชินกับการมองเด็กเป็น “สมบัติ” ของพ่อแม่ หรืออำนาจของพ่อแม่ที่ “เหนือ” กว่าเด็ก และยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากนัก สำหรับเรื่องนี้สิ่งที่คุณปุ้มปุ้ยและคุณกวินท์ตัดสินใจไม่ใช่เรื่องของ ความกระแดะ เรื่องของการทำลูกให้เป็นเทวดา อะไรทั้งนั้น แต่ความลึกซึ้งของเรื่องนี้คือ

1. การตัดสินใจนี้อยู่บนฐานของการ “เคารพเด็ก” คือการตระหนักว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถบอกความรู้สึกได้ ว่าเขาอยากมีรูปหน้าตา หรือแบ่งปันห้วงเวลาส่วนตัวกับมนุษย์คนอื่นนอกครอบครัวของเขาหรือไม่ และในกรณีที่เขายังบอกไม่ได้ การปกป้องและเคารพเขาที่ดีที่สุดคือ การไม่นำเอาชีวิตส่วนตัวเขามาแบ่งปันกับสาธารณะในขณะที่เขายังบอกความรู้สึก หรืออนุญาตไม่ได้

2. สิ่งสำคัญจากตรงนี้คือ การปฏิบัติเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์และการสื่อสารสำคัญที่พ่อแม่จะให้เด็กเรียนรู้ว่า “เขาคือเจ้าของชีวิตตนเอง” “เขาคือผู้มีสิทธิ์ขาดเหนือเนื้อตัวร่างกายตนเอง” ที่คือการแสดงความเคารพต่อลูก และเป็นการแสดงความรักที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

3. การงดถ่ายรูปลูกลงสื่อสังคมออนไลน์เพื่อแบ่งปันตลอดเวลาหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sharenting (Sharing + parenting) คือการเคารพในหลักการ “สิทธิที่จะถูกลืม” (right to be forgotten) ซึ่งเป็นการตระหนักว่า เมื่อใดก็ตามที่เราโพสต์รูปลูก ไม่ว่าขณะใดก็ตามในโลกออนไลน์ รูปของลูกเรา ใบหน้าของเขา อากัปกริยาที่ถูกถ่ายไปจะถูกบันทึกในโลกออนไลน์ตลอดกาล มันจะถูกแบ่งปันไปอย่างมหาศาลจนไม่มีใครสามารถควบคุมได้ และไม่สามารถรู้วัตถุประสงค์ว่าใครจะเอารูปลูกเราไปทำอะไร แบบไหนได้เลย

ดังนั้นนี่จึงเป็น “ต้นแบบ” ของพ่อแม่ยุคใหม่ ที่อยากให้ทุกคนได้ตระหนักและเรียนรู้ผ่านกรณีของครอบครัวนี้ค่ะ

คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ






กำลังโหลดความคิดเห็น