xs
xsm
sm
md
lg

อาลัยนักเขียนรางวัลศรีบูรพา “วัฒน์ วรรลยางกูร” จากไปอย่างสงบที่ฝรั่งเศส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาลัย “วัฒน์ วรรลยางกูร” นักเขียนรางวัลศรีบูรพา จากไปอย่างสงบที่ฝรั่งเศส หลังต้องลี้ภัยการเมือง เมื่อ คสช.ทำรัฐประหาร แจ้งข้อหา 112

วันนี้ (22 มี.ค.) วจนา วรรลยางกูร หรือ เตย ลูกสาวของ วัฒน์ วรรลยางกูร กวีและนักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส เนื่องจากถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า คุณพ่อวัฒน์ วรรลยางกูร จากไปแล้วราวช่วงสามทุ่มครึ่งตามเวลาในฝรั่งเศส หลังจากป่วยหนัก

สำหรับประวัติ วัฒน์ วรรลยางกูร

วัฒน์ วรรลยางกูร เกิดวันที่ 12 มกราคม 2498 เป็นนักเขียนชาวไทย ที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และสมาชิกสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน เกิดที่ตำบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นบุตร นายวิรัตน์ วรรลยางกูร และ นางบุญส่ง วรรลยางกูร เขาสมรสกับนางอัศนา วรรลยางกูร มีบุตร 3 คน

การศึกษา
พ.ศ. 2505 ชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง ปทุมธานี
พ.ศ. 2508 ชั้นประถมปีที่ 5 ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ลพบุรี
พ.ศ. 2514 เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี โดยไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองลพบุรี สอบตกชั้น ม.ศ.5 เพราะกำลังเริ่มสนใจการประพันธ์อย่างจริงจัง จนต้องเรียนซ้ำชั้น แต่สอบเทียบได้จึงเลิกเรียนและเข้ากรุงเทพฯ
ต้นปี 2517 สมัครเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนอยู่เพียง 2 เดือน ก็เลิกแล้วหันไปทำงานด้านหนังสือพิมพ์จริงจัง
พ.ศ. 2546 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

เส้นทางนักกวี
วัฒน์อ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เพราะใกล้ชิดกับตาและพ่อที่เป็นนักอ่านหนังสือ เมื่อเรียนชั้นประถม 7 เริ่มแต่งกลอนรักให้เพื่อนนักเรียนหญิง ต่อมาได้ออกหนังสือให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนอ่าน อีกทั้งยังเขียนเรื่องสั้นลงหนังสือโรเนียวของโรงเรียนโดยใช้นามปากกา “วัฒนู บ้านทุ่ง” พร้อมกันนั้น ยังได้ส่งผลงานกลอนและเรื่องสั้นไปยังนิตยสารต่างๆ

ผลงานแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ ได้แก่ เรื่องสั้นชื่อ “คนหากิน” ต่อมาผลงานกลอนที่ส่งประกวดก็ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์ ก่อนที่เรื่องสั้นชื่อ “มุมหนึ่งของเมืองไทย” จะได้ลงพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย

หลังจากนั้น มีผลงานกลอนและเรื่องสั้นเผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ มากขึ้นในนาม “วัฒน์ วรรลยางกูร” ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รู้จักนักเขียนนักกิจกรรมหลายคน กระทั่งปี 2517 ได้ฝึกฝนเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้นและนวนิยาย มีคอลัมน์ประจำชื่อ “ช่อมะกอก” ใช้นามปากกา “ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน” ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นนวนิยายเรื่อง “ตำบลช่อมะกอก” ในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีผลงานเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์ต่อเนื่องอีก 2 เล่ม คือ “นกพิราบสีขาว” (2518) และ “กลั่นจากสายเลือด” (2519) ที่สำคัญ เขายังเป็นที่รู้จักของคนหนุ่มสาวเดือนตุลาอย่างกว้างขวาง

วัฒน์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา


หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา วัฒน์ที่ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องลี้ภัยเข้าป่า ช่วงนั้นเขามีโอกาสเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายมากมาย มีผลงานรวมเล่มออกมา 3 เล่ม คือ รวมเรื่องสั้นและบทกวี 2 เล่ม คือ “ข้าวแค้น” (2522) กับ “น้ำผึ้งไพร” (2523) ส่วนเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายชื่อ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” (2524)

ปี 2524 หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย วัฒน์กลับมาใช้ชีวิตนักเขียนทำงานหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ไฮคลาส และถนนหนังสือ ก่อนลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว เขียนนวนิยายเรื่อง “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา รายปักษ์

รวมถึงอีกหลายๆ เรื่อง เช่น บนเส้นลวด มนต์รักทรานซิสเตอร์ เทวีกองขยะ นอกจากนี้ ยังมีผลงานเรื่องสั้น สารคดี และบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ อีกมาก

ปี 2525 เรื่องสั้นชื่อ ความฝันวันประหาร ได้รับการเลือกสรรจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี

หลังจากนั้น จึงเบนเข็มไปทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างกับภรรยาที่จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนกลับไปทำงานนิตยสารอีกครั้ง เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Good Life

ปี 2550 กองทุนศรีบูรพา มอบรางวัลนักเขียนรางวัลศรีบูรพาให้กับวัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น