สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เผยเรื่องราวจากหนังสือ "เล่าถึงลูก แตงโม ภัทรธิดา ตามประสาพ่อ" เผยหย่ากับภรรยาตั้งแต่แตงโมอายุ 5 ขวบ ความคิดแวบแรก "ลูกต้องอยู่กับเรา" ยอมทุกอย่าง เสียบ้านหนึ่งหลังก็เอา ชื่นชมประสบความสำเร็จวงการบันเทิง เผยคำสอนต่อลูก ทำงานต้องรู้จักเกรงใจ ทำตัวให้คนชอบคนรัก อย่าให้ว่าเราได้
วันนี้ (6 มี.ค.) เฟซบุ๊ก "ณ บ้านวรรณกรรม" ของสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เผยเรื่องราวจากหนังสือ "เล่าถึงลูก แตงโม ภัทรธิดา ตามประสาพ่อ" ซึ่งเขียนโดย นายโสภณ พัชรวีระพงษ์ บรรณาธิการโดย รักชนก นามทอน ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ปี 2548 จำนวน 3 หัวข้อ ได้แก่
หัวข้อแรก : เมื่อรู้ว่าต้องหย่า
วันหนึ่งที่รู้แน่นอนแล้วว่าไม่สามารถที่จะรักษา ‘ชีวิตคู่’ กับคุณแม่น้องโมได้ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือจะเอาอย่างไรดีในเรื่องลูก ความที่เป็นคนรักลูกมากๆ คนหนึ่ง ความคิดแวบแรกคือ ลูกต้องอยู่กับเรา เราเองขาดลูกไม่ได้
เหตุผลประการที่สองก็คือ หากคิดไปถึงอนาคต เพราะในขณะที่หย่ากันนั้น ตัวคุณพ่อมีอายุประมาณสี่สิบปี คุณแม่น้องมีอายุประมาณสามสิบปี อายุเราห่างกันประมาณสิบปี ซึ่งโดยอายุของทั้งคู่กอปรกับหน้าตา สังคมและหน้าที่การงาน เป็นไปได้ว่าแต่ละฝ่ายอาจมี ‘คู่ครองใหม่’ ในอนาคต
ด้วยเหตุผลประการหลังนี้ จะยิ่งชัดเจนว่าลูกควรอยู่กับคุณพ่อมากยิ่งขึ้น เพราะว่าลูกเราเป็นลูกสาว เป็นผู้หญิง ฝ่ายหญิงหากมีคู่ครองใหม่ และหากลูกอยู่กับคุณแม่ก็จะกลายเป็นว่า วันหนึ่งลูกสาวที่ต้องโตขึ้นทุกวัน ต้องอยู่กับพ่อเลี้ยงซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของคุณแม่ซึ่งอาจมีปัญหาได้ เพราะเป็นเพศตรงข้ามกัน แต่หากหย่ากันไปแล้ว ลูกสาวอยู่กับคุณพ่อ หากคุณพ่อมีคู่ครองใหม่ คู่ครองเราก็จะเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นเพศเดียวกันกับลูกสาวเรา อันตรายหรือปัญหาอันอาจเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่มีโดยสิ้นเชิง
จึงเป็น ‘เงื่อนไข’ และเป็นข้อแม้ของคุณพ่อในระหว่างการเจรจาหย่าร้างกันว่า ยอมได้ทุกข้อ ยอมได้ทุกอย่าง เช่น บ้านที่อาศัยอยู่ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวปลูกบนเนินบนเนื้อที่ร่วมร้อยสิบตารางวา ซึ่งซื้อเป็นเรือนหอตั้งแต่ตอนแต่งงานกัน และได้ออกแบบให้มีห้องนอนของน้องโมไว้หนึ่งห้องตั้งแต่แรก เป็นบ้านที่สวยงามมาก อยู่แถวแจ้งวัฒนะ ที่อยากจะเก็บไว้เป็นสมบัติของลูก แต่คุณแม่เขาต้องการให้ขายเพื่อแบ่งสมบัติกัน ก็ยอมหมด
คุณพ่อบอกไว้ชัดเจนว่า ต้องการอย่างเดียวคือน้องโมต้องอยู่กับคุณพ่อ หากยินยอมเมื่อใด ก็จะหย่าขาดจากกันในทันที
ยกเว้นเรื่องนี้แล้ว เรื่องอื่นๆ คุณพ่อยอมหมด
วันหนึ่งระหว่างนั่งทำงาน คุณแม่น้องโทร.มาบอกตกลงยอมให้ลูกอยู่กับคุณพ่อ แต่เรื่องอื่นๆ ต้องเป็นไปตามที่เขาต้องการ คุณพ่อรีบตอบทันทีว่าตกลง ไปเจอกันที่อำเภอเดี๋ยวนั้น
แล้วคุณพ่อกับคุณแม่น้องโมก็หย่ากันทันที โดยใน บันทึกใบหย่า จะมีข้อความสำคัญเป็นข้อแรกว่า
“ข้อ 1. เรื่องบุตร เด็กหญิงภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ตกลงให้บุตรดังกล่าวอยู่ในความปกครองภาระเลี้องดูของฝ่ายชาย โดยมารดามีสิทธิ์มาเยี่ยมและนำบุตรไปอาศัยที่คุณแม่ได้เป็นครั้งคราว”
หนังสือหย่าทำกันที่สำนักงานเขตพญาไท เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2532 ในขณะที่น้องโมมีอายุประมาณห้าขวบ (แตงโม เกิด 13 กันยายน 2527) หลังจากนั้นอีกสิบกว่าวันตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่สี่สิบของคุณพ่อ ก็ได้มีโอกาสฉลองวันเกิดเป็นครั้งแรกระหว่างสองคนพ่อลูก ซึ่งจะเป็นอะไรง่ายๆ ไปนั่งกินข้าวกันธรรมดาไม่มีพิธีรีตองอะไร
นับจากนั้น น้องโมก็ใช้ชีวิตอยู่กับคุณพ่อสองคนตราบจนทุกวันนี้
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
หัวข้อที่สอง : ของขวัญวันเกิดน้องโม ‘จดหมายจากคุณพ่อ’
13 กันยายน 2547
น้องโมลูกรัก
วันนี้เป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่ 20 ของน้องโม ซึ่งถือว่าเป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่สำคัญเป็นพิเศษครั้งหนึ่งของชีวิต เพราะเป็นวันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ในทางกฎหมายถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว สามารถตัดสินใจกระทำการใดๆ หรือทำนิติกรรมใดๆ ก็ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องให้ผู้ปกครองยินยอมเหมือนเด็กๆ อีกต่อไป
หากอายุคนเฉลี่ยที่หกสิบปี แบ่งเป็นสามช่วง ช่วงละยี่สิบปี ยี่สิบปีแรกถือเป็นวัยเด็ก ยี่สิบปีที่สองถือเป็นวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน ยี่สิบปีที่สามคือวัยผู้ใหญ่ย่างเข้าสู่วัยชรา
ชีวิตของน้องนับว่าเป็นวันแรกที่ย่างเข้าสู่วัยที่สอง มีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมายและจะต้องเริ่มเรียนรู้มากขึ้น กว้างขึ้น และลึกมากขึ้น การมองอะไรในภาพเดียว มิติเดียวเหมือนเช่นวัยเด็กจะเริ่มใช้ไม่ได้และไม่เพียงพอ บางครั้งอาจต้องมองสองสามมุมถึงจะเพียงพอ และนำไปสู่การตัดสินใจที่จะส่งผลดีกับเราไม่ใช่แค่วันนี้ แต่ต้องหมายถึงวันข้างหน้าด้วย
คุณพ่อมีความรู้สึกว่าอยากจะเขียนถึงน้องให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ปีละครั้งเหมือนตอนเด็กๆ เพราะน้องเริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งจากหน้าที่การงานและสังคมผู้คนที่ต้องเผชิญมากมาย ทำให้น้องต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ของสังคม ของบ้านเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีของประเทศเรา และประเทศต่างๆ เพราะคนในวัยนี้จะอาศัยความชอบหรือไม่ชอบ หรือเอาเหตุผลของการถูกผิดมาใช้ในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว ในบางครั้งจะเริ่มไม่เพียงพอ
เหตุนี้ หากคุณพ่อคิดว่าน้องควรจะรู้อะไรเพิ่มเติม ก็จะเขียนมาให้อ่านแล้วค่อยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน แต่ในวันนี้ที่เป็นวันที่ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของน้อง คุณพ่อก็จะเขียนถึงเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวน้องและคุณพ่อเท่านั้น
ประการแรก คุณพ่อดีใจกับน้องในความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งกับบท ‘กาเหว่า’ ในละคร ‘อุ่นไอรัก’ ที่สามารถแสดงได้อย่างดียิ่ง เพราะการได้มาซึ่งโอกาสนั้นคือประการหนึ่ง แต่การสามารถคว้าโอกาสนั้นได้คือ ความสามารถส่วนตัวของน้อง นั่นคืออีกประการหนึ่ง คนบางคนมีโอกาสแล้ว แต่ไม่พร้อม ก็ไม่สามารถคว้าโอกาสไว้ได้
พูดถึงเรื่องนี้ อยากให้น้องเพิ่มเติมในเรื่องการรู้จักรักษาแฟนๆ ผลงานของเรา อยากจะให้ดูคุณเจี๊ยบ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เป็นตัวอย่างที่ดี คุณเจี๊ยบจะมีความสุขและไม่เคยเบื่อหน่ายต่อแฟนๆ ของเขา เขาจะรู้จักรักและพูดคุย ทักทาย ยิ้มแย้มกับแฟนๆ คนเขาก็จะรักและพูดกันปากต่อปากว่า ดาราคนนี้น่ารัก ในที่สุดก็เป็นดาราในดวงใจของเขา จึงในบางครั้งเพียงแค่น้องหันไปยิ้มให้หรือโบกไม้โบกมือให้ เขาก็ชื่นใจแล้ว
ประการที่สองที่คุณพ่อดีใจมากๆ อาจจะพอๆ กันหรือมากกว่าประการแรกด้วยซ้ำ คือการที่น้องเห็นคุณค่าของการศึกษา และน้องมีความสุขในวิชาที่น้องเรียน คุณพ่อเห็นน้องตั้งใจเรียน สนใจอยากเรียนด้วยตัวเอง ไม่เหมือนตอนเด็กๆ ที่บางครั้งน้องมองข้ามไป หรือละเลยไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร
ชีวิตคนนั้นยังอีกยาวไกล ด้วยอายุยี่สิบของน้องยังมีหนทางให้เดินอีกยาวไกล ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมายไม่รู้จบ ยังมีอะไรให้เผชิญอีกหลายอย่าง ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ
มองกลับไปวันเกิดคุณพ่อเมื่อสองปีก่อน คุณพ่อยังจำได้ไม่ลืม ตอนที่น้องขึ้นไปกล่าวอวยพรคุณพ่อ และน้องได้พูดตอนท้ายว่า
“ลูกสาวคนนี้จะต้องทำให้คุณพ่อภูมิใจและจะทำให้สำเร็จ คุณพ่อจะไม่ผิดหวังในตัวลูกสาวคนนี้แน่นอน”
คุณพ่อจำได้ และคอยมองทุกย่างก้าวของน้อง การพัฒนาจากละครเรื่อง ‘เบญจา คีตา ความรัก’ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเสมือนการเริ่มเข้าสู่วงการ เหมือนการแจ้งเกิด ถัดมาถึงเรื่อง ‘อุ่นไอรัก’ เพียงแค่ไม่นาน น้องก็สามารถเรียกได้ว่า เกิดเต็มตัวแล้ว นับเป็นความสามารถ และสะท้อนถึงความตั้งใจในการทำงาน ความทุ่มเทในงาน เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ดีที่เอาไปใช้ได้ในทุกเรื่องและทุกงาน
พูดถึงเรื่องนี้ต้องไม่ลืมจะบอกว่าน้องต้องเติมเต็มในเรื่องของเวลา ต้องไม่ไปทำงานสาย คนจะเบื่อหน่าย และจะเป็นภาระของเพื่อนร่วมงาน ที่เราต้องรู้จักเกรงใจ คนเราถ้าจะให้เขารักชอบเอ็นดูเรา เราต้องรู้จักทำตัวให้เขาชอบ ให้เขารัก อย่าให้เขาว่าได้
อีกเรื่องที่อดพูดถึงไม่ได้ คือการดูแลสุขภาพ การพักผ่อน ต้องเพียงพอ คุณพ่อเป็นห่วงเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะการขับรถ หากเราสามารถย้ายมาอยู่ร่วมกันได้ คุณพ่อก็คงสามารถดูแลน้องได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การกิน เสื้อผ้า การขับรถ เรื่องงาน (เท่าที่จะช่วยได้ เพราะเรื่องงานพยายามให้ทำด้วยตัวเอง ไม่ก้าวก่าย ยกเว้นแต่จะเอ่ยปากให้ช่วยเรื่องอะไร ก็จะรีบทำให้ด้วยความเต็มใจ)
วันเกิดปีนี้ ขออวยพรให้น้องมีความสุข ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีงานเข้ามาเยอะๆ จะได้เลือกงานที่ชอบได้มากขึ้น มีเงินทองรายได้มากขึ้น เพื่อจะได้เป็นทุนการศึกษา และเป็นหลักประกันในชีวิตภายหน้า หากจะไปลงทุนทำธุรกิจอะไร เป็นที่รักของแฟนๆ ทั่วประเทศ
ขอให้ภูมิใจในตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง (แต่ไม่ใช่เหลิง) ในอายุสิบเก้ายี่สิบปีเท่ากัน น้องทำได้ดีกว่าคุณพ่อมากมาย เป็นอภิชาตบุตร ขอให้พระเจ้าอวยพระพรแก่น้อง ให้น้องเป็นคริสเตียนที่ดี เป็นลูกที่ดีของคุณพ่อและของพระเจ้า ให้น้องอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากกว่านี้ พระเจ้าก็จะให้พรแก่น้องมากยิ่งขึ้น ขอให้น้องสามารถรักษาและพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ ทั้งความสามารถในการแสดงและแฟนๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศให้ดีขึ้นและมากขึ้น
สำคัญที่สุดในชีวิตหนึ่ง อย่าลืมทำตัวให้เป็นคนดีของสังคม และหากมีโอกาสได้ทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติ จงทำ เพื่อทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน
รักลูกเสมอ
คุณพ่อ
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
หัวข้อที่สาม : ตายแทนกันได้
คำพูดนี้ที่ว่า รักกันจนตายแทนกันได้ เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินกันมา เมื่อก่อนคุณพ่อนึกภาพไม่ออกว่า...การตายแทนกันได้มันเกิดขึ้นได้จริงหรือ? ชีวิตใครใครก็รัก แถมแต่ละคนก็มีญาติพี่น้องลูกหลานผูกพันกันไว้อีก
มันน่าจะเป็นคำพูดในเชิงอุปมาอุปไมยมากกว่า
มีอยู่วันหนึ่ง เวลาตอนเย็น ขณะนั่งกินข้าวที่โต๊ะหินหน้าบ้าน น้องโมปีนขึ้นลงอีท่าไหนไม่รู้ เหยียบเท้าพลาด หัวกระแทกขอบโต๊ะหินเลือดอาบ ต้องรีบนำส่งคลินิกบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน พอไปถึงคลินิกดังกล่าวมีหมอกับพยาบาลอยู่อย่างละคน คุณหมอดูอาการแล้วบอกว่าเป็นแผลค่อนข้างกว้าง ต้องเย็บแผลกันเดี๋ยวนั้น และที่สำคัญเป็นการเย็บแผลแบบสดๆ
ปัญหาคือแผลอยู่บริเวณหลังท้ายทอย เลือดออกเยอะ น้องโมเจ็บมากร้องไห้ดังลั่น เจ้าหน้าที่บุคลากรมีอยู่เพียงสองคน คือคุณหมอกับพยาบาล แต่เวลาคุณหมอจะเย็บแผล ต้องจับน้องโมนอนคว่ำ พยาบาลช่วยจับแขน คุณพ่อต้องช่วยจับขาทั้งสองข้างไว้ไม่ให้แกดิ้น การเย็บแผลสดๆ มันเจ็บมาก แต่เราคนเป็นพ่อจำต้องจับตัวเขาไว้เพื่อให้เขาต้องเผชิญความเจ็บปวดนั้นด้วยตัวเอง
รู้ทั้งรู้ว่าความเจ็บปวดนั้นคือการรักษาให้เขาหาย แต่ในนาทีนั้นเรารู้สึกเจ็บปวดยิ่งกว่าลูกเสียอีกไม่รู้เป็นกี่ร้อยเท่า เราอยากจะเจ็บแทนเขา อยากให้เป็นตัวเราไม่ใช่เขา
น้ำตาลูกไหล น้ำตาคุณพ่อก็ไหลไปด้วย
วินาทีนั้น ความรู้ซึ้งถึงคำที่พ่อแม่เคยบอกเราว่า...
เขารักเราจนตายแทนเราได้ นั้น หมายความว่าอะไร
เป็นคำพูดที่หมายถึงอย่างที่พูดจริงๆ
และที่สำคัญทำได้จริงๆ หากได้ทำหรือทำแทนกันได้
เข้าใจซึ้งถึงกฎเกณฑ์อีกอย่างของวงการแพทย์ ทำไมเขาถึงไม่ให้แพทย์ผ่าตัดให้ลูกเมีย พ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิด ก็เพราะความรู้สึกอย่างนี้นี่เอง คุณพ่อเชื่อว่าในวันนั้น หากเด็กที่ต้องจับไว้ให้คุณหมอท่านนั้นเย็บแผลสดๆ เป็นลูกคุณหมอ ท่านก็คงจะทำไม่ได้ลงคอ หรือหากทำได้ คุณหมอก็คงจะต้องทำไปร้องไห้ไปเหมือนกันกับเรา
กฎเกณฑ์บางอย่างหรือคำสอนของคนสมัยก่อน ที่สอนกันไว้หรือห้ามเอาไว้ คุณพ่อพยายามสอนน้องโมไว้ว่า ห้ามไปฝืน ห้ามไปมองข้ามหรือละเลย เพราะในบางครั้งจะถึงแก่ชีวิตหรือได้รับความเสียหายร้ายแรงได้ เพราะไอ้ที่เราคิดว่าเราทำได้ เราสามารถพอ เอาเข้าจริงๆ มันทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถ แต่บางเรื่องเป็นเรื่องของใจ เป็นเรื่องต้องใช้องค์ประกอบอย่างอื่น
คนโบราณท่านเจอมาก่อนเรา ท่านจึงสอนไว้ ห้ามไว้ ไม่ให้คนรุ่นหลังต้องไปประสบด้วยตัวเองเหมือนคนรุ่นท่านที่เจอมาแล้ว จนมีข้อสรุปแล้ว คนรุ่นหลังอย่างเราจึงควรเชื่อฟัง ไม่ต้องไปเสียค่าเล่าเรียนด้วยราคาแพง
หลายๆ เรื่องที่สอนน้องโมไว้ในการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ใช้หลักความรู้และความเข้าใจในลักษณะนี้ให้กับเขา เช่นอะไรก็ตามที่เป็น Axiom หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า ‘สิ่งซึ่งไม่ต้องพิสูจน์’ แล้วนั้น ขอให้ยึดถือด้วยความเคร่งครัดไว้ก่อน อย่าไปประมาทกับมันเป็นอันขาด เช่น การขับรถ การที่เขาห้ามไม่ให้แซงทางโค้ง เขามีเหตุผลว่ามันหลอกตา ระยะทางที่เราคิดว่ายังพอแซงแล้วหลบได้นั้น มันไม่ได้เป็นอย่างที่ตาเรามองเห็น เป็นต้น
เวลาสอนลูก คุณพ่อจะคุยกันถึงที่มาที่ไป หลักทฤษฎี หลักปฏิบัติ หรืออะไรที่ชาวบ้านชอบปฏิบัติด้วยเหตุผลอะไร...บางอย่างที่ทำๆ กันอยู่ ทำอย่างผิดๆ ก็มี ทำกันด้วยความเข้าใจก็มี ทำไปด้วยความไม่รู้ก็มี
เราต้องแยกแยะวิเคราะห์ให้ออกให้ถูกต้อง คำพูดที่ว่า ‘คนอื่นก็ทำกันอย่างนี้’ ...ไม่เพียงพอในครอบครัวคุณพ่อกับน้องโม มันต้องมีคำอธิบายต่อว่าทำไมเขาจึงทำกันอย่างนั้น แล้วก็จะเห็นเองว่า ที่เขาทำๆ กันนั้น มันทำด้วยความรู้หรือไม่รู้ ถูกหรือผิด ต้องโต้เถียงกันด้วยเหตุผลกันก่อน จึงยอมให้นำไปปฏิบัติได้
หากเราทำอะไรด้วยเหตุด้วยผล ทำอะไรด้วยความรู้ตัว ก็น่าจะส่งผลดีต่อตัวเราเองและคนใกล้เคียง อย่างน้อยที่สุด เวลาผลมันไม่เกิดตามที่เราคาดหวัง เราก็สามารถมีคำตอบหรืออธิบายได้ว่ามันเป็นเพราะอะไร แล้ววิธีแก้ไขเป็นอย่างไร มันก็จะรู้ได้เองโดยอัตโนมัติ
น้องโมถูกสอนให้ ‘รู้ตัว’ อยู่เสมอว่า...กำลังทำอะไรอยู่
และกำลังทำอะไรเพื่ออะไร ทุกอย่างต้องชัดเจน
คุณพ่อสอนน้องโมมาในหลักการนี้ตั้งแต่เขาอายุห้าขวบ ถึงแม้จะรู้ดีว่าในบางช่วงของอายุ เขาอาจไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่ามันคืออะไร ถูกต้องจริงหรือไม่ แต่พอโตขึ้นก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้นๆ
วิธีสอนลูกผิดๆ โดยยึดเอาความสะดวกของผู้ใหญ่เป็นหลัก เช่น การหลอกผี การหลอกให้กลัวตำรวจ เพื่อให้เด็กเข้านอน หรือละเว้นการละเล่นอะไรบางอย่าง ไม่เคยมีในการสอนลูกตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา และจะไม่มีตลอดไป...
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่