"ดุสิตโพล" แจงทีมงานผิดพลาดตกชื่อ "รสนา" ชิงผู้ว่าฯ พร้อมยกเลิกผลสำรวจสัปดาห์นี้เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ด้านเจ้าตัวซัดกลับถ้าไม่ทักท้วง แบบสอบถามที่ให้คน "โหวต" ซ้ำกี่ครั้งก็ได้ ก็จะถูกประกาศเป็นผล "โพล" ใช่หรือไม่ เสนอควรมีระบบตรวจสอบจากคนภายนอกเพื่อป้องกันโพลรับจ้าง
จากกรณี นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ตั้งคำถามสวนดุสิตโพลรับจ้างโปรโมตให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.บางคน หลังพบแบบสอบถามไร้ชื่อตนชิงผู้ว่าฯ กทม. แต่คนไม่ประกาศตัวดันมีชื่อ ฉะไม่มืออาชีพไม่ใช้หลักวิชาที่ถูกต้อง ไร้ระบบป้องกันทำซ้ำสร้างเรตติ้งปลอม (อ่านข่าวประกอบ : “รสนา” สงสัยดุสิตโพลรับจ้างโปรโมตบางคนชิงผู้ว่าฯ กทม.เหตุสำรวจไร้ชื่อตน ไม่ป้องกันตอบซ้ำ)
ล่าสุด วันนี้ (3 มี.ค. 2565) นางสาวรสนา โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล ได้ส่งข้อความมายังทีมงานเพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าว ... มีรายละเอียดว่า
เรียน ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ตามที่ท่านได้เขียนแสดงความเห็นในเพจ รสนา โตสิตระกูลว่า “ขออภัยในความผิดพลาด ได้แก้ไขโดยยกเลิกการทำโพลเรื่องนี้แล้วครับ และกำลังดำเนินการตรวจสอบแบบสอบถามชุดนี้อย่างเร่งด่วน แล้วจะแจ้งให้ทราบโดยเร็วครับ ต้องขออภัยในความผิดพลาดครั้งนี้เป็นอย่างยิ่งครับ” หลังจากนั้นท่านได้มีข้อความส่งถึงทีมงานดิฉันชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
“เรียน คุณรสนา โตสิตระกูล
เรื่อง กราบขออภัยในความผิดพลาดในการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพล)
สืบเนื่องจากสวนดุสิตโพลมีการทำสำรวจ (โพล) ในหัวข้อ “ความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” โดยมีข้อคำถามเกี่ยวกับความนิยมต่อ “ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม” โดยไม่ปรากฎชื่อของคุณรสนา โตสิตระกูล ในตัวเลือกนั้น ทางสวนดุสิตโพลขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
จากการตรวจสอบ พบว่า มีความเข้าใจผิดของทีมงานในขั้นตอนการสรุปข้อมูลว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ไม่ปรากฎชื่อของคุณรสนา โตสิตระกูลในแบบสอบถาม จากการทำงานที่ไม่รอบคอบจนนำไปสู่การสื่อสารที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูลว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ สวนดุสิตโพลขอน้อมรับข้อผิดพลาดทุกประการ ในเบื้องต้นทางสวนดุสิตโพลขอแสดงความรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดดังกล่าว ด้วยการยกเลิกการทำสำรวจในสัปดาห์นี้เพื่อไม่ให้เกิดการนำเสนอผลการสำรวจในวงกว้างต่อไป และจะนำข้อเสนอและข้อท้วงติงของท่านไปปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต
อนึ่ง สวนดุสิตโพลขอเรียนแจ้งท่านว่า สวนดุสิตโพลมิได้มีเจตนาหาผลประโยชน์ทางการเมืองให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ท่านใดท่านหนึ่งจากการทำสำรวจนี้ หรือได้รับการว่าจ้างในการทำสำรวจให้ผู้สมัครท่านใดท่านหนึ่งด้วยความสัตย์จริง จะเห็นได้จากการสำรวจความนิยมของผู้ว่าฯ กทม. เผยแพร่ผลโพลเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ได้ปรากฎชื่อของคุณรสนาทั้งในแบบสอบถามและผลโพล
สวนดุสิตโพลขอกราบขออภัยอย่างสูงจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นและจะระมัดระวังในการดำเนินการสำรวจอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามมาตรฐานการทำงานต่อไป
สวนดุสิตโพล
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต”
ดิฉันขอขอบคุณที่ท่านกรุณาตอบชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ยังเห็นว่าคำชี้แจงของท่านนั้นย้อนแย้งต่อข้อเท็จจริงบางประการ ดังนี้
1)”มีความเข้าใจผิดของทีมงานในขั้นตอนการสรุปข้อมูลว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ไม่ปรากฎชื่อของคุณรสนา โตสิตระกูลในแบบสอบถาม”
ถ้าหากทีมงานทำโพลของสวนดุสิตโพลเป็นมืออาชีพ ย่อมเห็นสื่อหลายรายการที่มีการสัมภาษณ์ว่าที่ผู้สมัคร 4คนที่ได้ประกาศตัวเป็นทางการว่าจะลงสมัครผู้ว่า กทม. เว้นเสียแต่ว่า การทำโพลของสวนดุสิตแฝงไว้ด้วยทัศนคติในการแบ่งแยกหญิง-ชาย (Gender Discrimination) ซึ่งมักปรา
กฎอยู่ในสื่อทั่วไป ที่จะเก็บชื่อผู้หญิงไว้เป็นคนสุดท้ายเสมอ แต่ก็ยังไม่รุนแรงถึงขั้นตัดชื่อผู้หญิงออกไปจากสารบบ
2)คำชี้แจงว่าในการสำรวจโพลที่ประกาศเมื่อ 19 ธค. 2564 นั้นได้ปรากฎชื่อของดิฉันในโพล ซึ่งจะมีคะแนนต่ำที่สุดคือ 2.26 และในสื่อส่วนใหญ่ที่รายงานผลโพลของท่าน ไม่ได้รายงานรวมไปถึงชื่อดิฉันด้วยซ้ำไป ซึ่งไม่น่าแปลกใจถ้าดูจากแบบสอบถามล่าสุดของท่านที่ระบุชื่อ ว่าที่ผู้สมัครที่ประกาศตัว 3คน และอีก2คน ที่ยังไม่ได้ประกาศ และเพิ่มหัวข้อชื่อ”อื่นๆ”ให้เติม ซึ่งที่จริงยังไม่ได้มีชื่อคนที่ประกาศจะสมัครหลายสิบคนจนไม่สามารถระบุชื่อได้ทั้งหมด
ดังนั้นการมีชื่อดิฉันปรากฎอยู่บ้างในสัดส่วน 2.26% ก็แสดงว่ามีคนตอบแบบสอบถามที่ตั้งใจจะเลือกดิฉัน และได้เขียนระบุชื่อดิฉันลงไป ในช่องชื่อ ”อื่นๆ” ซึ่งย่อมจะสู้ไม่ได้ หากมีหน้าม้าที่โหวตให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างเรตติ้งกับบุคคลเหล่านั้น ใช่หรือไม่
3) สิ่งที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร WAY เมื่อ 11 มี.ค 2556 ในคราวเลือกตั้งผู้ว่า
กทม.ครั้งที่แล้ว ท่านให้ข้อมูลความแตกต่างระหว่าง ‘ผลโหวต’ และ ‘ผลโพล’ ว่า “การโหวตไม่มีการจำกัด สามารถโหวตกี่ครั้งก็ได้หรืออาจมีหน้าม้าปนเข้ามาด้วยซึ่งมันตรวจสอบไม่ได้ พูดง่าย ๆ การโหวตคือการเชียร์ แต่โพลนั้นสำรวจความคิดเห็นคนเพียงครั้งเดียว คนเดียว ออกความเห็นได้ครั้งเดียว โพลมีการกำหนดเป็นขั้นเป็นตอนมากกว่า”
ข้อสงสัยของดิฉันคือ หากดิฉันไม่ทักท้วง แบบสอบถามแบบ’โหวต’ ของท่านครั้งนี้ก็จะถูกประกาศเป็นผล ’โพล’ ใช่หรือไม่? เพราะแบบสอบถามนั้นคน ๆ เดียวจะทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ ซึ่งทำให้ต้องตั้งคำถามถึงมาตรฐานการรายงานผลโหวตเมื่อ 19 ธค.2564 ของสวนดุสิต
โพลด้วยว่าเป็นการสำรวจแบบ’โหวต’ แต่เอามารายงานผลแบบ ‘โพล’ ใช่หรือไม่?
นอกจากนี้ท่านก็เคยออกมาขอโทษประชาชน ในการสำรวจผิดพลาดคราวเลือกตั้งผู้ว่ากทม.เมื่อปี2556 "สวนดุสิต โพล" ยอมรับความผิดพลาดโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.(5มี.ค 2556)
ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพลยอมรับการทำโพลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกิดความผิดพลาดจริง พร้อมขอโทษประชาชน สื่อ และผู้ได้รับผลกระทบ”("สวนดุสิต โพล" ยอมรับความผิดพลาดโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.) แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการสำรวจของท่านที่รายงานผลมาก่อนหน้านั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงไร !?และส่งผลกระทบหรือไม่ เพียงใด ต่อว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม.ที่เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีกลุ่มทุนและพรรคการเมืองสนับสนุน ผู้หญิงทั่วไปมักถูกกีดกันทางการเมือง ถ้าไม่ได้อยู่ในครอบครัวของผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ใช่หรือไม่??!!
การที่สถาบันการศึกษาออกมาทำโพลเรื่องการเลือกตั้งนั้น ย่อมมีผลต่อจิตวิทยาของผู้เลือกตั้ง ไม่มากก็น้อย จึงควรมีระบบตรวจสอบการทำโพลอย่างจริงจังจากคนภายนอกเพื่อป้องกันโพลรับจ้าง หรือโพลเอียงข้าง
ทั้งควรดูแลจริยธรรมของผู้ทำโพลเพื่อป้องกันการใช้ผลโพลชี้นำทางการเมือง โดยเฉพาะในยุคที่สื่อมวลชนยากจะแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรเท็จ การสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ซื่อตรงจะเป็นการนำสังคมไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ ดิฉันก็เป็นนักสื่อสารมวลชนคนหนึ่งจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สำหรับดิฉันแล้ว นักสื่อสารมวลชนควรสำเหนียกว่า “Half truth still a whole Lie”
รสนา โตสิตระกูล
3 มีค. 2565