“อ.ไชยันต์” จับโกหกหนังสือ “The King Never Smiles” อ้างอิงเอกสารมั่วซั่ว พฤติกรรมไม่ต่างจาก ณัฐพล ใจจริง อึ้งตรวจสอบแค่เบื้องต้น 2 บท เจอข้อผิดพลาดถึง 7 จุด งงนักวิชาการไม่เอะใจมาตลอดเกือบ 20 ปี หรือเพราะแค่ตรงกับ “จริต” ชี้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากของวงการวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทย
วันที่ 24 ก.พ. 2565 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ...
อีกแล้วครับ ท่าน !
ทุ่นดำ-ทุ่นแดง กับ การตรวจสอบการอ้างอิงทางวิชาการ (คราวนี้ Go Inter. !)
กรณีที่พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง จะมาพูดคุยในคราวนี้ นับได้ว่าเป็น “เรื่องใหญ่และสำคัญมาก”
เพราะเป็นข้อค้นพบที่เผยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างหนังสือ The King Never Smiles ของ Paul Handley (ตีพิมพ์ พ.ศ. 2549) กับ “วิทยานิพนธ์ (พ.ศ. 2552) และหนังสือขุนศึกฯ” (พ.ศ. 2563) ของณัฐพล ใจจริง
สำหรับหนังสือ the King Never Smiles นั้น เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีเพราะเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” ของไทย
ด้วยเหตุว่า นักวิชาการบางคนยกกันว่า The King Never Smiles เป็นหนังสือ “เบิกเนตร” เล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่งนั่นเอง
บางท่านถึงกับเขียนคำนิยมว่าเป็นหนังสือสำคัญเล่มเอกอุที่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสมัยใหม่เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้เราได้มีโอกาสตรวจสอบหนังสือ The King Never Smiles
และพบบางอย่างที่น่าสนใจและน่าจะเป็น “คำตอบ” ของสาเหตุแห่งความวุ่นวายทางวงการวิชาการในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นมาจากการใส่ร้ายอย่างชั่วร้ายของผู้ที่เอาวิชาการมาบังหน้าเพื่อหวังผลทางการเมือง
โดยเนื้อหาที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้จะแบ่งออกเป็นสองตอน ทั้งสองตอนจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นดังนี้
ตอนที่ 1 ประเด็นการใช้หลักฐานอ้างอิงบางส่วนในหนังสือ (โพสต์นี้)
ตอนที่ 2 ความคล้ายคลึงของเนื้อหาระหว่างหนังสือนี้กับผลงานของ ณัฐพล ใจจริง (ซึ่งเราจะโพสต์ในคราวต่อไป)
เราได้พบประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ 2 ซึ่งขอให้ทุกท่านคอยติดตามไปพร้อมกันด้วยใจระทึก
_______________________________________________
ตอนที่ 1 ประเด็นการใช้หลักฐานอ้างอิงบางส่วนในหนังสือ
สำหรับหนังสือ The King Never Smiles นั้น ในความจริงแล้ว มีข้อเสนอ/ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื้อหาและการใช้ข้อสรุปหลายๆ อย่างที่ไม่สมเหตุสมผล
และบางเรื่องอาจถึงขั้น “มโนไปเอง” ซึ่งสามารถหาหลักฐานมาแย้งให้ข้อเสนอของหนังสือนี้ตกไปได้โดยไม่ยากนัก
ซึ่งหากมีโอกาสเราจะนำมาพูดในคราวต่อๆ ไป
แต่ในครั้งนี้ จะเป็นการพูดถึง “การใช้หลักฐานอ้างอิงบางส่วน” ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ “สูญเสียคุณค่าของความเป็นวิชาการลดลงอย่างเห็นได้ชัด”
เพราะสิ่งที่เราพบในเวลานี้ คือ Handley ผู้แต่งหนังสือมีวิธีการใช้หลักฐานและการอ้างอิงในแนวทางเดียวกับณัฐพล ใจจริง (แต่มาก่อนณัฐพล)
กล่าวคือ The King Never Smiles ใช้ “การอ้างเอกสารโดยไม่มีข้อความที่ปรากฏในเอกสารที่กล่าวอ้าง”
และบางส่วนยังเป็น “การเล่าเรื่องไปเรื่อยโดยไม่มีเชิงอรรถหรือหลักฐานอ้างอิง” ว่า ใช้ข้อมูล/หลักฐานอ้างอิงจากแหล่งใด และนอกจากนี้แล้ว ยังปรากฏเนื้อหาที่ขัดแย้งกับหลักฐานชิ้นอื่นๆ อีกด้วย
ตัวอย่างการอ้างหลักฐานที่เราพบข้อผิดพลาดในส่วนแรก คือ การอ้างหนังสือ “หนึ่งศตวรรษศุภสวัสดิ์”
โดย Handley ได้เขียนทับศัพท์ว่า “Noeng Sotwarot Subhasvasti” (อ่านว่า เนื่อง สดวารด ศุภสวัสดิ์)
ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว พวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ลงความเห็นว่าเป็นการเขียนสะกดคำ romanisation ภาษาอังกฤษที่เพี้ยนจากคำไทยไปมาก จนในชั้นต้นเมื่ออ่านเจออ้างอิงนี้ พวกเราจึงสงสัยว่า Handley หมายถึงงานชิ้นใดหรือใครกันแน่
เพราะตั้งแต่ศึกษาหลักฐานมาพวกเราไม่เคยได้ยลยินชื่อหนังสืออะไรพิกลๆ อะไรเช่นนี้มาก่อน จนกระทั่งพบว่า Handley มีการอ้างอิงถึงจดหมายที่หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์เขียนถึงในหลวงรัชกาลที่ 9
พวกเราจึงตระหนักว่าว่าเป็นงานชิ้นนี้ (นั่นคือ หนังสือ “หนึ่งศตวรรษศุภสวัสดิ์”) อย่างแน่นอน
การอ้างอิงงานชิ้นนี้ของ Handley เป็นเรื่องที่น่าแปลก
เพราะเราพบความผิดพลาดคล้ายกับกรณีของ ณัฐพล ใจจริง ที่อ้างเอกสารอย่างผิดๆ และหนังสือ “หนึ่งศตวรรษศุภสวัสดิ์” นี้ตีพิมพ์ครั้งเดียว พวกเราจึงมั่นใจว่าไม่มีทางเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งอื่นอย่างแน่นอน
การอ้างอิงหนังสือ “หนึ่งศตวรรษฯ” นี้ Handley ได้อ้างอิงไว้ในเชิงอรรถทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยเป็นการอ้างอิงที่ระบุเลขหน้า 5 ครั้ง อีก 2 ครั้งไม่ได้ระบุเลขหน้าเอาไว้ โดยเราจะเริ่มตรวจสอบจากการระบุเลขหน้าของ Handley เอาไว้ก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) ในหน้า 62 Handley ได้ระบุเนื้อหาเกี่ยวกับการที่จอมพล ป. มีความพยายามจะสถาปนาราชวงศ์ของตนเอง และสร้างเมืองหลวงใหม่โดยอ้างงานหนึ่งศตวรรษไว้ในเชิงอรรถที่ 30 และระบุหน้าอ้างอิงไว้ที่หน้า 107
แต่เมื่อเราตรวจสอบหน้านั้นกลับพบว่า หน้า 107 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกบฏบวรเดชโดยมีการกล่าวถึงหลวงพิบูลไว้ แต่ก็เป็นการมีบทบาทปราบปรามกบฏในช่วงนั้นเท่านั้นเอง
(2) ในหน้า 72 Handley ได้ระบุว่า หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ มีความเห็นว่า พวกสุดโต่งในฝ่ายตรงข้ามกับปรีดี ยังมีความหวังลมๆ แล้งๆ ที่จะฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้กลับคืนมาอีก เพื่อเป็นหนทางที่พวกเขาจะกอบกู้อภิสิทธิ์ต่างๆ ที่เสียไปกลับคืนมา
ข้อความนี้เป็นเชิงอรรถที่ 8 ในหนังสือของ Handley และเขาเขียนไว้ว่า อ้างจากหนังสือ “หนึ่งศตวรรษฯ” หน้าที่ 48
แต่เมื่อพวกเราได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับพบว่า ในหน้าดังกล่าวของหนังสือ “หนึ่งศตวรรษฯ” เป็นการเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัวของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์เอง ไม่ได้มีเนื้อหาใดๆ เกี่ยวกับการเมืองในหน้านี้เลย
(3) ในหน้า 75 Handley ได้ระบุเนื้อหาเรื่องที่รัชกาลที่ 8 และปรีดีหารือกันว่าจะแต่งตั้งใครเป็นองคมนตรี โดยรัชกาลที่ 8 เสนอว่า ให้พระองค์เจ้ารังสิตและพระองค์เจ้าธานีเป็น แต่ปรีดีเสนอให้เป็นพระองค์รำไพพรรณีแทน ซึ่งปรีดีคิดว่าสามารถทำงานด้วยได้มากกว่า (หรือควบคุมได้) ซึ่งพระองค์รำไพพรรณีเองก็ได้รับการสนับสนุนจากคนอื่นๆ รวมไปถึงหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ด้วย
ส่วนนี้เป็นเชิงอรรถที่ 12 และเขาระบุอ้างอิงไว้ที่หน้า 497 และ 501
ซึ่งเมื่อเราตรวจสอบพบว่าจุดนี้ “อ้างอิงหน้าหนังสืออย่างถูกต้อง” เสียอย่างนั้น !
(4) ในหน้า 80 Handley ได้ระบุเนื้อหาว่าหลังจากการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะพี่น้องปราโมชได้ปล่อยข่าวว่าปรีดีเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ส่วนนี้ใส่เป็นเชิงอรรถที่ 1 โดยอ้างงาน “หนึ่งศตวรรษฯ” หน้าที่ 82
แต่เมื่อตรวจสอบ กลับกลายเป็นเนื้อหาของปรีดีช่วงเรียนที่ฝรั่งเศส ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีสวรรคตเลย
(5) ในหน้า 101 Handley ได้ระบุว่า หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ได้เขียนจดหมายยาว 120 หน้า ถึงรัชกาลที่ 9 เล่าถึงการเมืองหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2490 ว่า เสนีย์ ปราโมช และพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการใส่ความปรีดีเรื่องการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 (อีกแง่หนึ่งการรายงานนี้จึงทำให้รัชกาลที่ 9 หลุดจากการเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ไปด้วย) เพื่อยึดอำนาจ
และหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ยังได้อธิบายถึงความเป็นไปได้ว่า รัชกาลที่ 8 จะทรงอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ด้วย ส่วนนี้ใส่เป็นเชิงอรรถที่ 2 และอ้างงาน “หนึ่งศตวรรษณฯ” หน้าที่ 554-556
เมื่อตรวจสอบพบว่า มีการอธิบายถึงความเป็นไปได้ของการเกิดอุบัติเหตุจริง และพูดถึงการใช้เหตุการณ์สวรรคตในทางการเมืองจริง
แต่ไม่มีการระบุถึงปรีดี พรรคประชาธิปัตย์ และ เสนีย์ ปราโมช แต่อย่างใด (นั่นคือ Handley เขียนเกินกว่าหลักฐาน !)
(6) ในหน้า 78 Handley ได้ระบุข้อความว่า “หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ผู้ที่สนับสนุนให้ครูเกอร์เขียนหนังสือ [กงจักรปีศาจ/ทุ่นดำ-ทุ่นแดง] กล่าวว่ารัชกาลที่ 8 ทรงอ่อนแอจากโรคและทำให้เกิดอุบัติเหตุยิงพระองค์เอง [อ่อนแรงและจับปืนพลาด/ทุ่นดำทุ่นแดง]”
โดยข้อความต้นฉบับที่ Handley เขียน คือ “Prince Subhasvasti, who encouraged Kruger to write the book, stuck to the story that, enfeebled by illness, Ananda accidentally shot himself”
โดยอ้างเป็นเชิงอรรถที่ 16 และอ้างหนังสือ “หนึ่งศตวรรษฯ” ในส่วนที่เป็นจดหมายถึงรัชกาลที่ 9 เอาไว้
ซึ่งเช่นเดียวกับข้อ (5) คือมีข้อความดังกล่าวจริง แต่เรื่องที่ว่าหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์สนับสนุนให้ครูเกอร์เขียนหนังสือนั้นเป็นข้อความของ Handley เอง
ส่วนการอ้างอิงจุดที่ (7) นั้น Handley อ้าง “หนังสือหนึ่งศตวรรษฯ” ทั้งเล่ม โดยไม่ระบุหน้าเอาไว้
จะเห็นได้ว่า การอ้างอิงเลขหน้าของ Handley นั้นผิดอยู่ถึง 4 จุดด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่พบในหน้าที่ 75 Handley ได้ระบุข้อความว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ได้โน้มน้าวให้รัชกาลที่ 8 และสมเด็จย่าปลด เฉลียว และ เรือเอกวัชรชัย ออกในเดือนพฤษภาคม 1946 ซึ่งกรมขุนชัยนาทฯ อาจจะมีเหตุผลมากพอในการปลด เฉลียว ออก เนื่องจากเขาเคยเกี่ยวข้องกับคดีทางธนาคารสยามกัมมาจล”
(ข้อความต้นฉบับ คือ “Crucially, Rangsit persuaded Ananda and his mother to replace Chaleo and Vacharachai in May 1946. Rangsit may have had concrete reasons to oust at least Chaleo. It appears that in late 1944 Chaleo had raided the business and staff of the palace-owned Siam Commercial Bank”)
โดยอ้างเป็นเชิงอรรถที่ 11
แต่น่าสนใจว่า ในเชิงอรรถไม่ได้มีการอ้างอิงเอกสาร/หลักฐาน/ที่มา ใดๆ ไว้เลย
ทั้งที่เป็นพล็อตเรื่องที่สำคัญและต้องการการอ้างอิงมาสนับสนุนเป็นอย่างมาก แต่เชิงอรรถระบุเพียงการอธิบายประวัติธนาคารสยามกัมมาจลเท่านั้น
และไม่ปรากฏหลักฐานใดที่ระบุว่า กรมขุนชัยนาทฯ ได้โน้มน้าวเพื่อปลดเฉลียวออกแต่อย่างใด (ประหนึ่งว่ากุเรื่องขึ้นมาแบบลอยๆ นั่นเอง)
สรุป
ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือที่โด่งดังมาหลายปี เช่น The King Never Smiles จะหลุดรอดสายตาของนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ และนักอ่านที่มีจิตใจเป็นธรรมและจริงจังกับการใช้และตรวจสอบหลักฐานมากมาตลอดเกือบ 20 ปี
ซึ่งกรณีนี้ พวกเรา (ทุ่นทำ-ทุ่นแดง) ได้อ่านแบบ “เร็วๆ” โดยเน้นที่บทที่ 4-5 เท่านั้น ก็พบกับความไม่ชอบมาพากลของสถานะความเป็นหนังสือวิชาการของ The King Never Smiles ถึงเพียงนี้
เป็นต้นว่า การอ้างอิงเลขหน้าผิดๆ หลายครั้งติดต่อกัน
หรือกระทั่งการเขียนเรื่องราว (plot) ไปเรื่อย โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงหรือบกว่าเอาข้อมูลสำคัญดังกล่าวมาจากแหล่งใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ ในการสั่งปลดคนสนิทของปรีดีจากตำแหน่งแห่งที่ในสำนักพระราชวัง ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่ต้องการแหล่งอ้างอิงจากหลักฐานชั้นต้นเป็นอย่างมาก
เราเองก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมนักวิชาการบางคนที่ “อวย” หนังสือเล่มนี้ ไม่เคยสังเกตหรือเอะใจเลยหรือ ?
หรือเป็นเพราะเพียงแค่หนังสือเล่มดังกล่าวนำเสนอเรื่องราวตรงกับ “จริต” ของท่านๆ ท่านก็อวยกันโดยไม่สนใจความเป็นวิชาการแต่อย่างใด ?!!
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากของวงการวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อสังเกตว่า การเขียนเรื่องราวจนกระทั่งถึงการดำเนินเรื่องราวมีความคล้ายถึงกับวิทยานิพนธ์และหนังสือขุนศึกฯ ของ ณัฐพล ใจจริง อย่างน่าประหลาด
ซึ่งกรณีความเชื่อมโยงระหว่าง the King Never Smiles ของ Handley กับวิทยานิพนธ์และหนังสือขุนศึกฯ แบบที่ ณัฐพล ใจจริง “ดิ้นไม่รอด” นั้น โปรดติดตามต่อไปในตอนหน้า
การนำเสนอการใช้หลักฐานในตอนแรกจบเพียงเท่านี้
สวัสดี !