ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คงไม่มีใครที่ไม่คุ้นชื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ได้ฉายาว่า “นายกฯตลอดกาล” เพราะครองอำนาจยาวนานกว่านายกรัฐมนตรีไทยทุกคนถึง ๘ สมัยรวม ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน ทั้งยังถือได้ว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยหลายอย่างและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้
จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีชื่อเต็มว่า แปลก พิบูลสงคราม และชื่อเมื่อเกิดว่า แปลก ขิตตะสังคะ เป็นบุตรของ นายขิตและนางสำอาง ขิตตะสังคะ ชาวสวนทุเรียนเมืองนนทบุรี เกิดในเรือนแพหลังคามุงจากที่ปากคลองบางเขนเก่า ในวันพุธที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๐
เมื่อคลอดออกมา เด็กชายผู้เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายขิตและนางสำอาง ได้สร้างความแปลกใจให้คนทั้งหลายที่พบเห็น เพราะมีลักษณะที่แตกต่างจากคนทั่วไปคือ มีหูอยู่ต่ำกว่าระดับตา ซึ่งคนทั่วไปจะมีหูอยู่เหนือระดับตา พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ว่า “แปลก”
ในทางจิตวิทยาถือว่า คนที่เกิดมามีลักษณะไม่สมประกอบจะก่อให้เกิดปมด้อยทางจิต แต่ก็มีไม่น้อยที่ปมด้อยนี้ได้กระตุ้นให้เกิดปมเด่น มีความทะเยอทะยานที่จะสร้างความเด่นให้ลบปมด้อย นักปราชญ์และผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตสูงหลายคนก็เกิดมาด้วยความไม่สมประกอบของร่างกายเช่นกัน
เด็กชายแปลกยังเป็นเด็กขี้อ้อนร้องไห้ไม่หยุด เมื่ออายุ ๓ เดือน ผู้เป็นแม่เห็นว่าเลี้ยงยาก ทั้งยังเกรงว่าลักษณะแปลกจะส่งผลไม่ดีต่อลูกชาย จึงยกให้เจ้าอาวาสวัดปากน้ำที่อยู่ใกล้บ้านช่วยเลี้ยง แต่พอท่านเจ้าอาวาสไกวเปล เด็กชายแปลกก็เงียบเสียง หลับแต่โดยดี
ในขณะที่เลี้ยงเด็กขี้อ้อนอยู่นี้ ท่านเจ้าอาวาสคงไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่า ต่อไปเด็กที่มีลักษณะแปลกผู้นี้จะได้เป็นใหญ่ถึงจอมพลและนายกรัฐมนตรีผู้กุมชะตาของประเทศไว้ในกำมือ และในอีก ๖๗ ปีเขาก็จะกลับมาอยู่วัดนี้อีก โดยอัฐิ
ด.ช.แปลกอยู่กับเจ้าอาวาสวัดปากน้ำไม่นาน บิดามารดาก็พาไปฝากไว้กับพระที่วัดจุฬามณี ปากคลองบางซื่อ จนมีอายุได้วัยเรียนจึงลากลับมาอยู่บ้านเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม และช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ทำสวนทุเรียน
เรียนที่ ร.ร.วัดเขมาฯ จนอายุได้ ๑๒ ปี ด.ช.แปลกก็อยากจะเป็นทหาร นายขิตผู้บิดาจึงไปขอร้อง พล.ต.พระยาสุรเสนา บิดาของ ม.ล.ชูชาติ กำภู ให้ช่วยฝากเข้าโรงเรียนนายร้อยพร้อมกับ ด.ช.ประกิต ขิตตะสังคะ ผู้เป็นพี่ชาย ชีวิตทหารก้าวแรกของจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงเริ่มขึ้นตรงนี้ ด้วยการเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยชั้นประถมเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๕๒ และเรียนอยู่ ๓ ปี จึงขึ้นชั้นมัธยมต่ออีก ๓ ปี สอบผ่านเป็นนักเรียนทำการนายร้อยเมื่ออายุ ๑๘ ปี
เช้ามืดของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นายพันตรีแปลก ขิตตะสังคะได้บอกกับภรรยา ซึ่งต่อมาก็คือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ก่อนออกจากบ้านแต่เพียงว่า “ฉันจะต้องไปทำงานใหญ่” จากนั้นก็ตรงไปยังกรมทหารม้า บางซื่อ ซึ่ง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และนายทหารผู้ก่อการอีกหลายคนไปพร้อมกันที่นั่น แล้วนำรถยนต์หุ้มเกราะ รถถังเล็ก กำลังพลพร้อมอาวุธและกระสุนครบครัน เคลื่อนออกไปสมทบกับทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ และทหารช่าง มุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีทหารเรือในการนำของนายนาวาตรี หลวงสินธุ์สงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) มาถึงก่อนแล้ว
การทำงานใหญ่ครั้งนั้นสำเร็จด้วยดี พ.ต.หลวงพิบูลสงครามได้เข้าเป็น ๑ ใน ๑๔ ของคณะกรรมการราษฎรชุดแรก และยังเข้าร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีตลอดมาทุกชุด แสดงถึงความเป็นบุคคลสำคัญของการเมืองในระบอบใหม่มาตลอด
ต่อมา ๓ ใน ๔ ทหารเสือของคณะราษฎร คือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิ์อาคเนย์ และ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ เกิดแตกคอกับพระยาพหลฯ หันไปสนับสนุนพระยามโนฯ กำจัดอำนาจคณะราษฎรออกไปทีละน้อย จนถึงกับสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
อ.พิบูลสงคราม ได้เขียนเล่าตอนนี้ไว้ใน “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ว่า
“วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามลุกขึ้นจากเตียงนอนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง ลุกลนสวมเครื่องแบบทหาร หยิบปืนพกประจำตัวได้ก็ขึ้นรถยนต์อย่างรีบร้อน ก่อนรถยนต์จะเคลื่อนที่ออกไปไม่ลืมหันหน้ามากล่าวกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ด้วยเสียงหนักแน่นแต่สีหน้ายิ้มแย้มว่า “ฉันจะต้องไปทำงานใหญ่!”
นั่นคือการทำรัฐประหารครั้งแรก ทำให้พระยานโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนัง นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยมี พ.ท.หลวงพิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีลอยร่วมคณะ
แม้จะยึดอำนาจมาได้โดยเด็ดขาด แต่บรรยากาศการเมืองก็ยังร้อนระอุ ตอนนั้น พ.ท.หลวงพิบูลสงครามพาครอบครัวย้ายมาอยู่เรือนหลังเล็กในวังปารุสกวัน อ.พิบูลสงครามได้เล่าตอนนี้ไว้ว่า
“ในตอนสายวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ นั้น รถยนต์เกราะจากกรมรถรบคันหนึ่งแล่นตรงเข้ามาหยุดที่หน้าเรือนหลังเล็กในวังปารุสกวัน พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม ก้าวลงจากรถด้วยอาการดุดัน ติดตามด้วยนายทหารบกและเรือในเครื่องแบบสนามอีก ๓-๔ นาย พอพบกับท่านผู้หญิงละเอียดก็พูดว่ามีความจำเป็นจะต้องออกจากบ้านไปเป็นเวลาชั่วคราวไม่ทราบว่าช้าหรือเร็วจะได้กลับ เพราะ “ฉันจะต้องไป...” ยังพูดไม่ทันจบใจความ ท่านผู้หญิงละเอียดก็กล่าวขัดขึ้นพร้อมกับหัวเราะว่า “ทราบแล้ว เธอจะต้องไปทำงานใหญ่!” ท่านผู้หญิงละเอียดทายล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องว่า พ.ท.หลวงพิบูลสงครามกำลังจะพูดเช่นนั้นจริงๆ เพราะยังไม่เคยปรากฏให้เห็นว่ามีงานอะไรบ้างที่เมื่อ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามจะต้องกระทำแล้ว งานนั้นเป็นงานเล็ก...”
งานที่ต้องทำครั้งนี้ก็คือ รับหน้าที่เป็นแม่ทัพฝ่ายรัฐบาลปราบ “กบฏบวรเดช” ซึ่งหัวหน้ากบฏเป็นถึงนายพลเอก อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม สถานการณ์ครั้งนี้ได้สร้างให้ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามเป็นวีรบุรุษขึ้นมาอย่างเด่นชัด เป็นที่ครั่นคร้ามของฝ่ายตรงข้าม และได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันเอกในวันที่ ๑ เมษายนต่อมา เมื่อพระยาพหลฯปรับ ครม.ในวันที่ ๒๒ กันยายน พ.อ.หลวงพิบูลสงครามซึ่งเป็นรัฐมนตรีลอยมา ๕ สมัยก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนต่อมาก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทเด่นที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย แต่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งที่ต้องลี้ภัยไปอสัญกรรมต่างแดน