“รสนา” ติงรัฐบาลลดภาษีดีเซล 3 บาท แต่ไม่กำหนดเพดานห้ามเกิน 27 บาท/ลิตร หวั่นผู้ค้าน้ำมันฉวยโอกาสปรับราคาชน 30 บาท/ลิตร ย้ำ กองทุนน้ำมันเป็นกล่องมายากล ทำให้ประชาชนไม่เห็นว่าเป็นการล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนเอง
วันที่ 21 ก.พ. 2565 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ และอนุกรรมการบริหารสาธารณะ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “วิบากกรรมคนไทย ใช้น้ำมันแพงไม่จบสิ้น?”
โดย น.ส.รสนา กล่าวในช่วงนึงว่า รัฐบาลยอมลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันลงเหลือ 3 บาท จากเดิม 5.99 บาท/ลิตร แต่รัฐบาลไม่ได้กำหนดเพดานของราคาดีเซล ว่า ตกลงจะไม่เกิน 30 บาท หรือไม่เกิน 27 บาท ลดไป 3 บาท ราคาก็ควรลงมาเป็น 27 บาท แต่ถ้าไม่ได้กำหนดเพดาน ก็ยังเป็น 30 บาทเหมือนเดิม
จะต้องจับตาดูต่อไปว่าผู้ค้าน้ำมันจะขยับขึ้นจนติดเพดานไม่เกิน 30 บาทหรือไม่ ฉะนั้น ที่รัฐบาลลด 3 บาท จะลดให้ประชาชนหรือลดให้ผู้ประกอบการค้าน้ำมันกันแน่ ในส่วนของผู้ค้าน้ำมันเขาจะมีส่วนที่เป็นเนื้อน้ำมัน กับค่าการตลาด เวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมา ส่วนที่เขาจะลดราคาบางทีก็ไม่ลดให้กับส่วนที่มันลดลงในราคาตลาดโลก เขาก็จะโยนไปไว้ที่ค่าการตลาด
ถ้าเราดูโครงสร้างราคาน้ำมันของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เราจะเห็นเลยว่าน้ำมันดีเซล ตอนนี้เรามีดีเซลชนิดเดียวคือ B5 ใน B5 ทั้งหมด รัฐมนตรีเคยระบุว่าขอให้เก็บค่าการตลาดอยู่ที่ 1.40 บาท แต่วันนี้ดูราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 27.94 บาท ก็ดูเหมือนว่าลดลงมาเกือบ 3 บาท ตัวเนื้อน้ำมันลดลงด้วย แต่ว่าถ้าการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 1.40 บาท กลายเป็น 2.19 บาท สมมติเกินไปเยอะเขาก็จะอ้างว่าบางครั้งเขาต้องลดค่าการตลาดลงมาเหลือ 89 สตางค์บ้าง 98 สตางค์บ้าง
เพราะฉะนั้นเขาก็จะขยับตัวเลขอันนี้ขึ้น ถ้าเราไม่ได้จับตาดู เขาก็จะเล่นกลตัวเลขตรงนี้ แล้วก็สามารถขยับเพดานขึ้นไปจนไม่เกิน 30 บาท เพราะเนื่องจากรัฐบาลลดแต่ภาษีแต่ไม่ได้ระบุว่าให้คุมราคาอยู่ที่ 27 บาท
ช่วงนี้ราคาน้ำมันขยับลดลง แต่ที่จริงควรลดได้มากกว่านี้ เพราะรัฐบาลบอกว่าให้เก็บค่าการตลาดแค่ 1.40 บาท แต่วันนี้เขาเก็บ 2.19 บาท เกินไปเกือบบาท ซึ่งตรงนี้ควรลดลงมาได้มากกว่านี้
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า เครือข่ายรถบรรทุกเรียกร้องให้คุมราคาไว้ที่ 25 บาท เพราะถ้าเกิดไม่ได้ราคานี้เขาก็อาจลำบาก ราคาค่าขนส่งก็จะไปกระทบกับสินค้าต่างๆ ในตลาด
ประเด็นที่สำคัญ ก็คือว่า การที่รัฐบาลไม่ลด ถ้าไปดูในส่วนของเนื้อน้ำมัน ต้องบอกว่าที่เราพูดกันเรื่องว่ามันมีต้นทุนเทียมอยู่ 1 บาท ก็จะมีคนมาเถียงกันว่าไม่ใช่ต้นทุนเทียม แต่ถ้าเราใช้ภาษาที่เป็นภาษาวิชาการก็คือราคาเนื้อน้ำมันของเรา ถึงแม้จะกลั่นอยู่ที่ระยองที่ศรีราชาที่กรุงเทพฯ แต่เวลาคิดราคาเขาให้คิดราคาที่เราเรียกว่า Import Parity ก็คือเป็นราคาเสมือนนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่บวกเข้ามา เช่นค่าปรับปรุงคุณภาพ ค่าสำรองน้ำมัน ราคาประมาณ 1 บาท วันนึงใช้น้ำมันราว 100 ล้านลิตร ก็คือ 100 ล้านบาท 1 ปี 36,500 ล้านบาท ซึ่ง Import Parity เขากินเรามา 20 ปีแล้ว
ตรงนี้เป็นไขมันที่ต้องรีดออกไป เอกชนไม่มีทางยอมอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งตนคิดว่ายากมากเพราะรัฐบาลอุ้มโรงกลั่นอยู่แล้ว
ปลายปีที่แล้ว กบง. เคยกำหนดราคาค่าการตลาดที่เหมาะสม ในส่วนของน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.50 บาท/ลิตร แต่เนื่องจากรัฐมนตรีต้องการที่จะคุมราคาให้ไม่เกิน 30 บาท ก็เลยกำหนดค่าการตลาดให้อยู่ที่ 1.40 บาท แต่ในส่วนของเบนซิน กบง. กำหนดอยู่ที่ 1.85 บาท
ตนก็บอกในที่ประชุมว่าให้ทดลองตามที่ กบง. กำหนดมา คือ 1.85 บาท เป็นค่าการตลาดที่เหมาะสม ขอให้ 3 เดือน ม.ค. - มี.ค. คุมราคาให้ได้ ปลัดฯ ก็รับปากว่าจะไปบอก กบง. แต่ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
น.ส.รสนา กล่าวต่ออีกว่า เรามาดูค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 3.66 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 3.69 บาท แล้วก็ส่วนของแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.84 บาท E20 ขึ้นมาที่ 4.26 บาท E85 ที่ 4.99 บาท ซึ่งตนเคยเสนอว่าตัวนี้ช่วงนี้เลิกผสมไปได้เลย เขาอ้างว่า พวก E85 มันขายน้อย ค่าการตลาดเลยสูง ก็เลยสงสัยกลไกตลาดเสรี สิ่งที่ขายได้น้อยทำไมถึงขายแพง ถึงบอกว่ากลไกพวกนี้มันถูกจัดการโดยผู้ค้าน้ำมันร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน
กบง. เคยพูดว่า มีหน้าที่เสนอราคาค่าการตลาดที่เหมาะสม แต่ไปบังคับเอกชนไม่ได้ เนื่องจากว่าในมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2535 ให้สินค้าพลังงานน้ำมันเป็นสินค้าในกลไกตลาดเสรี ทั้งที่ราคาเกิดจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ว่าผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมันและก๊าซจะได้กำไรอย่างไร อันนี้มันไม่ใช่กลไกตลาดเสรี คิดว่ามติ ครม. 2535 ควรยกเลิกไปได้แล้ว ไม่ควรจะมาอ้าง แต่ดูเหมือนผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานก็จะมีอำนาจมากกว่ารัฐมนตรี เพราะว่าไม่เคยมีรัฐบาลไหนกล้าทำเลย
น.ส.รสนา กล่าวว่า ปัญหาของของโครงสร้างราคาน้ำมันของเรา มันผูกโครงสร้างไว้ซับซ้อนมาก เพราะว่าเวลาผูกเนี่ยเขาก็จะเอากองทุนน้ำมันมาชดเชย ต้องบอกว่ากองทุนน้ำมันเมื่อก่อนไม่มีกฎหมายรองรับ พวกเราก็ต่อสู้มาเป็นสิบปี ในที่สุดรัฐบาลประยุทธ์ก็ทำกฎหมายรองรับ แต่อย่างไรก็ดี ในกฎหมายกองทุนน้ำมัน 2562 ก็ได้มีการระบุชัดเจนเอาไว้ใช้กรณีเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง
แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันไปชดเชยภาษีของตัวเองที่ตัวเองไม่ยอมลด และไปชดเชยในส่วนของราคาน้ำมันชีวภาพ ที่มีการตั้งราคาสูงโดยไม่มีการตรวจสอบเลย การที่รัฐบาลเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยภาษีตัวเอง ที่เคยเก็บเกือบ 6 บาท แทนที่จะเก็บลดลงกลับไม่ยอมลด แต่ไปเอาเงินกองทุนน้ำมันมาลด ทั้งที่เป็นเงินประชาชน
กองทุนน้ำมันตอนนี้เก็บจากคนใช้เบนซิน ก็คือ การเอาเงินคนใช้เบนซินมาให้ดีเซล เมื่อกองทุนถูกล้วงไปก็ไปกู้เงินมา ประชาชนก็ต้องใช้ทั้งดอกเบี้ยและเงินกู้ด้วย เพียงแต่กองทุนฯ เป็นกล่องมายากล ทำให้ประชาชนไม่เห็นว่าคือ การล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนเอง