xs
xsm
sm
md
lg

เพจดัง! เผยยังพบมีการ 'ขายน้ำลาย' ผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเอาเงินประกัน 100,000 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอแล็บฯ นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้โพตส์ภาพแชตหลุด ซึ่งพบมีการเตรียมเก็บน้ำลายใส่ขวดไว้ขาย เผื่อหากใครที่ประกันเจอ จ่าย จบ วงเงินแสนบาทใกล้หมดอายุ และอยากติดต่อขอซื้อน้ำลาย ด้านชาวเน็ตแห่แสดงความคิดเห็น ชี้ไม่คุ้มหากเชื้อลงปอด

วันนี้ (20 ก.พ.) เพจ "หมอแล็บแพนด้า" หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้โพสต์ภาพและข้อความหลังพบข้อความแชตหลุดและมีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย โดยมีการระบุว่า "มีพี่บอกว่าให้เก็บน้ำลายใส่ขวดไว้ให้ เพราะพวกประกันใกล้หมดอยากติดโควิด-19 งั้นขายครับน้ำลาย

โดยข้อความแชตมีบทสนทนาดังนี้
- หายไวๆ รูปหล่อ
- เก็บน้ำลายใส่ขวดไว้สักหน่อยนะ
- เอาไว้ขายคนที่อยากเป็นโควิด
- คนมีประกันเจอ จ่าย จบ ประกันใกล้หมด มันอยากเป็น

โดยทางหมอแล็บฯ ได้ระบุข้อความเพิ่มเติมว่า "จะขายน้ำลายว่าซั่น"

ทั้งนี้ ชาวเน็ตให้ความสนใจในโพสต์ดังกล่าวมากมาย และหลายรายระบุว่า ไม่คุ้มค่าแน่ หากซื้อน้ำลายผู้ป่วยมาเพื่อให้ติดโควิด-19 และพบว่าเชื้อโควิดลงปอด เพราะชีวิตที่เหลือจะไม่กลับมาเป็นแบบเดิมอีกต่อไป โดยโพสต์มียอดกดไลก์กว่า 4,500 ครั้งด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยว่ายังไม่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แต่ คปภ.จะติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด และได้แนะนำให้บริษัทประกันภัยให้มีกระบวนการกลั่นกรองในการจ่ายเคลมให้รอบคอบ ถ้าตรวจพบกรณีการเคลมผิดปกติ ให้รีบแจ้งสำนักงาน คปภ.เพื่อจะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ถ้าพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้บริษัทประกันภัยระมัดระวังการรับทำประกันภัยโควิด-19 ในแบบเจอ จ่าย จบ รวมทั้งอาจมีการกำหนดจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ต่อราย โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรับประกันภัยด้วย โดยจะได้เชิญทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยร่วมหารือโดยเร็วต่อไป

“กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหวังเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่ได้ตั้งใจ และกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้เอาประกันภัยที่สุจริตเท่านั้น หากผู้ที่ทำประกันภัยไว้หลายฉบับ และจงใจเอาตัวไปเสี่ยงให้ติดเชื้อเพื่อหวังเงินเอาประกัน อาจเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยได้ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอนท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น