เกิดอุบัติเหตุรถไฟขบวนนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ชนกับรถพ่วง บนถนนเส้นหนองแหน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ช่างเครื่อง คนขับรถพ่วงและคนนั่งบาดเจ็บ 3 ราย พบจุดนี้เป็นทางลักผ่าน การรถไฟฯ เคยปักป้ายเตือนนานมาแล้ว สร้างไม่ได้รับอนุญาต หากอุบัติเหตุไม่รับผิดชอบ ขณะที่สหภาพการรถไฟฯ จี้แก้ไขปัญหาจริงจัง บูรณาการทุกฝ่าย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
วันนี้ (19 ก.พ.) เมื่อเวลา 16.10 น. ศูนย์วิทยุวัฒนะสระบุรี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รับแจ้งจากศูนย์วิทยุสถานีตำรวจภูธรแก่งคอย จ.สระบุรี ว่ามีอุบัติเหตุรถไฟชนรถบรรทุกพ่วง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดที่จุดตัดทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ช่วงชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่) ถนนสายสนามทอง-ปางโก หรือเส้นหนองแหน ใกล้หมู่บ้านรสรินการ์เด้นวิลล์ ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยรถกู้ภัย รถอุปกรณ์ตัดถ่างและรถพยาบาล
ที่เกิดเหตุเป็นจุดตัดทางรถไฟ พบรถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi (HID) หมายเลข 4517 นำขบวนรถนำเที่ยวที่ 926 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-กรุงเทพฯ จำนวน 11 คัน ขณะกำลังออกจากสถานีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มุ่งหน้าไปยังสถานีชุมทางแก่งคอย ชนกับรถบรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 83-6290 ปทุมธานี ท้ายพ่วง 83-6291 ปทุมธานี ลากไปประมาณ 50 เมตร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย คือ นายสมชาย ไตรเดชา อายุ 46 ปี ช่างเครื่องรถไฟ, น.ส.บุพา พรมจุ้ยพะเนาว์ อายุ 22 ปี คนที่มากับรถพ่วง และคนขับรถบรรทุกพ่วง ไม่ทราบชื่อ นำส่งโรงพยาบาลแก่งคอย
ชมภาพจากเฟซบุ๊ก "ศูนย์วิทยุวัฒนะสระบุรี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง" คลิกที่นี่
จากการตรวจสอบพิกัดจาก Google Street View พบว่าถนนดังกล่าวเคยเป็นถนนคอนกรีตเส้นเล็กๆ แยกจากถนนแก่งคอย-วังม่วง (ทางหลวงหมายเลข 3224) ข้ามทางรถไฟสายชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ ผ่านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2, หมู่บ้านเจริญวิลล์พลัส แล้วไปออกถนนส่วนบุคคล บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด หรือถนนสายโรงปูนแก่งคอย ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร จากจุดนี้เลี้ยวขวาอีก 700 เมตร ไปออกถนนมิตรภาพ บริเวณ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยพบว่าจุดตัดทางรถไฟดังกล่าวไม่มีเครื่องกั้น มีเพียงไฟสัญญาณติดแผงโซลาร์เซลล์ ระบุว่า "ระวังรถไฟ" เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพป้ายประกาศจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า "ถนนตัดผ่านทางรถไฟที่จุดนี้ สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย การขับขี่ยานพาหนะผ่านทางสายนี้ หากก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลใด การรถไฟฯ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้น บุคคลผู้ก่อให้เกิดเหตุดังกล่าวยังต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 300 รวมทั้งจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดแก่การรถไฟฯ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 63, 148 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 520 อีกด้วย"
ชมภาพจาก Google Street View คลิกที่นี่
ขณะที่เฟซบุ๊ก "สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย" โพสต์ภาพดังกล่าวและข้อความระบุว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ??? หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาแก้ไขปัญหาร่วมกันให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่สรุปผลการศึกษา เกิดเหตุรายวัน กับอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดถนนเสมอระดับทางรถไฟ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีหน้าที่โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านนโยบาย (กระทรวงคมนาคม / กระทรวงมหาดไทย) หน่วยงานที่ดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทั้งการจราจรทางบกและทางราง การรถไฟฯ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ต้องใช้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวเองแบบไฟไหม้ฟาง เพราะหากเกิดเหตุแล้วความสูญเสียก็จะตามมาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็เป็นความสูญเสียที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีก ผู้ปฏิบัติงาน ผู้โดยสาร ประชาชนทุกคน ควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการด้านคมนาคมทุกด้านอย่างเท่าเทียม เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนและผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งทรัพย์สินของส่วนรวมอีกต่อไป ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ เสียที"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อคืนวันที่ 31 ม.ค. เคยเกิดโศกนาฏกรรมบนจุดตัดทางรถไฟ เมื่อขบวนรถเร็วที่ 134 หนองคาย-กรุงเทพฯ ออกจากสถานีรถไฟอุดรธานี ชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกมันเส้น บริเวณจุดตัดทางรถไฟถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี บ้านหนองขอนกว้าง ต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นเหตุทำให้นายวุฒิชัย เรืองอร่าม อายุ 59 ปี พนักงานขับรถไฟ และนายเจนณรงค์ ชื่นช้อย อายุ 43 ปี ช่างเครื่องซึ่งอยู่ในห้องคนขับ ร่างกระเด็นออกจากรถไฟลงไปในร่องน้ำเสียชีวิต 2 ศพ
ข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย งระบุว่า ทางรถไฟทั่วประเทศมีจุดตัดเสมอระดับทางรวม 2,630 แห่ง แบ่งออกเป็นเครื่องกั้นถนน 1,409 แห่ง ป้ายจราจร 186 แห่ง คานยกของเอกชน 5 แห่ง สะพานข้ามทางรถไฟ 195 แห่ง ทางลอดทางรถไฟ 215 แห่ง แต่ทางลักผ่านที่ชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือบริษัทเอกชนทำทางและเปิดใช้เอง มีมากถึง 620 แห่ง ที่ผ่านมาการรถไฟฯ พยายามปิดจุดตัดเสมอระดับทางและทางลักผ่านไปแล้ว 122 แห่ง แต่พบว่าบางแห่งถูกชาวบ้านประท้วง อ้างว่าเป็นการปิดตายทั้งซอย ให้ไปใช้จุดตัดทางรถไฟอื่นที่อยู่ไกลและไม่สะดวก สุดท้ายต้องยอมเปิดตามใจชาวบ้านมาตลอด