รายงานพิเศษ
หลังพบ “หมู่บ้านล้างถังสารเคมี” ที่บ้านซับชุมพล ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งมีผู้ประกอบกิจการ 13 ราย นำถังบรรจุสารเคมีทั้งขนาด 200 ลิตร 1,000 ลิตร และ 1,500 ลิตร มาล้างในชุมชนอย่างไม่ถูกต้อง เสี่ยงต่อการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา และสั่งให้หยุดประกอบกิจการทันที 12 ราย เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนอีก 1 ราย เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีใบอนุญาตลำดับที่ 105 (คัดแยกขยะ) และ 106 (รีไซเคิล) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงงานในวันนี้ (18 ก.พ.2565)
นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 (นครราชสีมา) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนเพื่อขยายผลหาแหล่งที่มาของถังสารเคมีที่ชาวบ้านนำมาล้างในหมู่บ้าน เพราะการจะนำถังสารเคมีออกมาจากโรงงานที่เป็นเจ้าของถังจะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการล้างบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนและมีใบกำกับการขนส่งของเสียที่เป็นอันตราย ซึ่งมีแต่โรงงานที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการลำดับที่ 105 และ 106 เท่านั้นที่สามารถจะนำออกมาอย่างถูกต้องได้
จึงตั้งสมมติฐานว่า มีโรงงานกลุ่มนี้เป็น “นายหน้า” นำถังสารเคมีออกมาและกระจายต่อมาให้ชาวบ้านซับชุมพลในรูปแบบต่างๆ โดยล่าสุดได้สอบถามจากชาวบ้านที่ประกอบกิจการล้างถังทั้ง 12 รายที่หยุดกิจการไปตามคำสั่งผู้ว่าฯ นครราชสีมาแล้ว ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก
“เราได้ข้อมูลที่มาของถังสารเคมีเหล่านี้มาแล้ว และพบว่า มาจากหลายช่องทาง โดยพบว่าต้นทางมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกาศความต้องการนำถังออกจากโรงงานไปกำจัด แต่ในกระบวนการเราพบรูปแบบการประมูลถังจากโรงงานกลุ่มแรก ซึ่งกลุ่มที่จะทำได้ต้องเป็นกลุ่มโรงงานที่มีใบอนุญาต 105 และ 106 เท่านั้น จากนั้นกลุ่มนี้ก็ทำตัวเป็นยี่ปั๊วนำถังมากระจายต่อ ซึ่งยังพบรูปแบบการกระจายที่หลากหลายไปยังซาปั๊ว ทั้งที่เป็นชื่อบุคคลธรรมดาพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และพบการตั้งกลุ่มขายถังใน facebook มีทั้งที่มาจากกบินทร์บุรี ลาดกระบัง ปราจีนบุรี ฯลฯ และมีกลุ่มร้านรับซื้อของเก่าใน facebook ที่เข้ามาเกี่ยวพันด้วย” นายธนัญชัย ให้รายละเอียด
ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 ยังบอกด้วยว่า ได้ข้อมูลเชิงลึกจากนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ว่ากลุ่มโรงงาน 105 และ 106 ที่รับถังมากระจายต่อ อาจใช้รูปแบบการเปิดเป็น “โต๊ะแชร์” โดยใช้การกระจายถังเป็นการจ่ายแชร์ ซึ่งกำลังสืบสวนขยายผลต่อไปด้วย
ส่วนผู้ประกอบการรายที่ 13 ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบกิจการลำดับที่ 105 และ 106 อยู่ในชุมชนนี้ ได้ประสานให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าตรวจสอบโรงงานในวันนี้ (18 ก.พ. 2565) เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นเพียงโรงงานที่ประกอบกิจการล้างถังสารเคมีอย่างถูกต้องหรือไม่
ทีมข่าว MGR Online นำรายชื่อโรงงานแห่งนี้ไปตรวจสอบในระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า โรงงานชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็น เอ็น เค 98 จดทะเบียนเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการซื้อขายภาชนะสำหรับบรรจุน้ำเคมีภัณฑ์และบริการทำความสะอาดภาชนะทุกชนิด ตั้งอยู่ที่ หมู่ 9 ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีใบอนุญาตลำดับที่ 105 คัดแยกวัสดุไม่ใช้แล้วที่ไม่ใช่ของเสีนยอันตราย และมีใบอนุญาตลำดับที่ 106 ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย ได้แก่ ถังโลหะและถังพลาสติก นำน้ำมันและตัวทำละลายที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและทำเชื้อเพลิงทดแทน มีเครื่องจักรขนาด 29.50 แรงม้า ซึ่งหมายความว่า โรงงานแห่งนี้สามารถรับถังสารเคมีมาล้างได้อย่างถูกต้อง แต่เดิมมีคนงาน 6 คน จนในเดือนสิงหาคม ปี 2562 แจ้งเพิ่มจำนวนคนงานเป็น 56 คน
เมื่อตรวจสอบไปยังข้อมูลการนำเข้าสินค้าของโรงงาน พบว่า โรงงานมีประวัติขอนำเข้าถังจากโรงงานต่างๆ ทั้งในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมแล้วประมาณ 80-90 แห่ง โดยการคีย์ข้อมูลในระบบการขนส่งถังใช้คำว่า “ถัง IBC ขนาด 1000 ลิตร” เพียงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่ถังที่ปนเปื้อนสารเคมี ไม่ใช่ของที่เป็นอันตราย เพราะหากนำถังที่ปนเปื้อนออกมา จะต้องคีย์ข้อมูลไปในระบบว่า “ถังเปล่า IBC ที่ปนเปื้อนสารเคมี”
ส่วนรายการแจ้งนำของเสียออกจากโรงงานมีเพียงรายการเดียว แจ้งไว้ในเดือนมกราคม ปี 2565 คือ ส่งของเสียชื่อ “กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย” ไปกำจัดในปริมาณ 25 ตัน ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แต่ที่น่าสนใจคือ ในข้อมูลระบุวิธีกำจัดไว้ว่าเป็น รหัส 071 ซึ่งหมายถึงการกำจัดของเสียไม่อันตราย หมายความว่า หากโรงงานนี้นำถังที่ปนเปื้อนสารเคมีมาล้าง จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียของตัวเองที่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้ส่งน้ำที่ปนเปื้อนจากการล้างออกไปกำจัดด้วย
และเมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมถึงเครื่องจักรที่โรงงานแห่งนี้แจ้งต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า มีเครื่องดูน้ำมันผ่านกรอง 2 ตัว ปั๊มดูดตัวทลายผ่านกรอง 1 ตัว ปั๊มดูดของเหลว 1 ตัว เครื่องตีโซ่ฉีดล้างถัง 1 ตัว ปั๊มลม 1 ตัว และรถโฟล์คลิฟท์ 1 คัน ซึ่งน่าสนใจว่า เครื่องจักรที่มีในโรงงาน สัมพันธ์กับปริมาณถังที่รับมาล้างหรือไม่?