รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ไขคำตอบที่มาหินลายเกล็ดงูถ้ำนาคา มุมมองทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาเรียกว่า ซันแครก (Suncrack) เกิดจากการแตกของผิวหน้าของหิน
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ว่า ลักษณะหินที่บริเวณถ้ำนาคา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ที่มีลักษณะคล้ายกับลำตัวของงูยักษ์ขดตัวไปมา โดยทางธรณีวิทยาเรียกว่า ซันแครก (Suncrack)
โดยทางเพจอธิบายว่า " "งูหินยักษ์ คือปรากฏการณ์ sun crack" มีการโพสต์ภาพแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า "ถ้ำนาคา" ตั้งอยู่ที่วัดถ้ำชัยมงคล อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ซึ่งบนยอดเขานั้น มีสภาพเห็นลักษณะเหมือนเกล็ดงู และมีรูปร่างคล้ายกับงูขนาดใหญ่ที่ขดตัวไปมา โดยชาวบ้านบางคนเชื่อว่าน่าจะเป็นงูยักษ์ที่กลายเป็นหิน โดยส่วนนี้เป็นสันหลังของพญานาค
ถ้ามองตามมุมของวิทยาศาสตร์ โดยไม่ได้อาศัยความเชื่อท้องถิ่นแล้ว ลักษณะหินที่เห็นนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ที่เราเรียกกันว่า "ซันแครก sun crack" ทำให้เกิด "หมอนหินซ้อน"
ซันแครก (แปลตรงตัวคือ หินแตกเพราะดวงอาทิตย์) เกิดจากการแตกของผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงไปมาของอุณหภูมิที่แตกต่างในเวลากลางวัน (ร้อน) และกลางคืน (เย็น) อย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับกันไปมา จนเริ่มแตกเป็นรูปหลายเหลี่ยมได้
ต่อมา เมื่อมีการผุพังจากการกัดเซาะโดยน้ำฝนและกระแสอากาศในแนวดิ่ง ทำให้บริเวณนั้นดูเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางซ้อนกัน เป็นชั้นขนานไปกับแนวของชั้นหินเดิม
ดูตามรูปประกอบ จะเห็นขั้นตอนของการเกิดหมอนหินซ้อน เริ่มจากชั้นหินเดิมที่วางตัวขนานในแนวนอน แล้วชั้นหินเริ่มมีรอยแตกในแนวดิ่ง แล้วรอยแตกทั้งแนวดิ่งและแนวนอนก็เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องจากการแตกต่างของอุณหภูมิ ทำให้หินมีการยื่นและหดตัวสลับกัน จากนั้นเมื่อเกิดการกัดเซาะในแนวดิ่งจากน้ำฝน ก็จะเห็นเป็นปรากฏการณ์ sun crack หรือหมอนหินซ้อนนี้ครับ
ส่วนการเห็นเป็นงูใหญ่นั้น ก็ขึ้นกับความบังเอิญ มุมที่มอง และจินตนาการของแต่ละคนตามความเชื่อด้วยครับ
ปล. จริงๆ แล้วส่วนคล้ายลำตัวงูพบที่ถ้ำนาคา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ แต่ส่วนคล้ายหัวงู พบที่ หินหัวงู แขวงอุดมไซย ที่ สปป.ลาว."
คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ