สำนักงานตำรวจแห่งชาติประชาสัมพันธ์คลิปโฆษณาเตือนภัยจากมิจฉาชีพ 7 ตอน ทั้งลักทรัพย์ในบ้าน โดยสารแท็กซี่หรือรถตู้ ลักทรัพย์ในที่สาธารณะ มอเตอร์ไซค์หาย ภัยอินเทอร์เน็ต แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขบวนการตบทอง ต้มตุ๋น
วันนี้ (3 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติประชาสัมพันธ์ว่าได้จัดทำคลิปโฆษณาเตือนภัยจากมิจฉาชีพ 7 ตอน โดยพบว่าให้บริษัท ยูซีไอ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการให้สถานีโทรทัศน์ตำรวจแห่งชาติ หรือโปลิศทีวี (POLICE TV) เป็นผู้ผลิตคลิปโฆษณา สำหรับคลิปโฆษณาดังกล่าวมีทั้งหมด 7 ตอน ตอนละ 1 นาที ได้แก่
ตอนที่ 1 มิจฉาชีพลักทรัพย์ของในบ้านหรือร้านค้าห้องแถว อธิบายถึงการป้องกันที่อยู่อาศัยแบบผิดวิธี เช่น กุญแจที่ล็อกประตูหน้าบ้าน, การติดป้ายที่หน้าประตูระบุว่า "ไม่อยู่บ้าน", การซ่อนกุญแจบ้านในกระถางต้นไม้ คนร้ายอาศัยวิธีดังกล่าวเข้าไปงัดเอาทรัพย์สินภายในบ้านได้ โดยแนะนำให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด ผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน เปิดไฟในอาคารบ้าง ควรคำนึงเสมอว่าในยามวิกาลย่อมมีคน ล็อกประตูให้สนิท รวมทั้งการโรยหินกรวดไว้รอบบ้านหรือมุมอับ เพื่อให้ได้ยินเสียงกรอบแกรบเวลาที่คนร้ายเข้ามา และการเลี้ยงสุนัขหรือแมวเพื่อให้ได้ยินเสียงเห่าหรือเสียงร้องเวลาเกิดความผิดปกติในบ้าน นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลสามารถเข้าร่วมโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจได้อีกทางหนึ่ง
ตอนที่ 2 ภัยจากการโดยสารรถเท็กซี่ และรถตู้ อธิบายถึงการป้องกันตัวเองเมื่ออยู่บนรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถตู้และรถแท็กซี่ ให้จดจำคนขับไว้ และระมัดระวังสิ่งของมีค่า เมื่อต้องเดินทางไกลควรบอกเพื่อนหรือคนใกล้ชิด ส่วนสุภาพสตรีเวลานั่งรถแท็กซี่ให้นั่งเบาะขวา เพื่อไม่ให้เป็นจุดสายตาของคนขับ และระมัดระวังการนั่งแหวกขาเพราะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ หากง่วงนอนหรือเวียนหัวหลีกเลี่ยงการหลับบนรถแท็กซี่ และหากเห็นท่าไม่ดีก็ให้รีบลงจากรถโดยเร็ว
ตอนที่ 3 ลักทรัพย์ในที่สาธารณะเป็นการเตือนภัยให้ระวังทรัพย์สินส่วนตัว อย่าอยู่ในที่เปลี่ยว ถอดหูฟัง เพราะมิจฉาชีพต้องการโทรศัพท์ราคาแพง และเมื่อจอดรถแล้ว กลับมาพบว่ามีกระดาษแปะอยู่ที่ท้ายรถ อย่าเพิ่งลงมาแกะ ให้ขับรถออกไปก่อน เพราะเป็นกลอุบายของคนร้ายที่ต้องการบังสายตา และอาศัยจังหวะเจ้าของรถลงไปแกะกระดาษ เข้าไปโจรกรรมรถ ระมัดระวังกระเป๋าสะพาย ให้อุ้มกระเป๋าแทนการสะพายในที่เปลี่ยว เพราะคนร้ายจะแย่งชิงโดยง่าย ควรเก็บทรัพย์สินมีค่าในรถอย่างมิดชิด เพราะหากวางไว้บนเบาะหลังจะล่อตาคนร้ายทุบกระจกเอาทรัพย์สินนั้นไป ตั้งสติเมื่อกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม อย่าคุยกับคนแปลกหน้า
ตอนที่ 4 เตือนภัย เรื่องป้องกันภัยมอเตอร์ไซค์หาย เมื่อจอดรถจักรยานยนต์ในที่สาธารณะให้ล็อกคอทุกครั้ง ไม่เสียบกุญแจรถทิ้งไว้ ไม่จอดในที่ลับตา มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี เช่น มีกล้องวงจรปิด รปภ. ระบบรับบัตรจอดรถ ลดโอกาสเสี่ยงการถูกโจรกรรมรถจักรยานยนต์
ตอนที่ 5 ภัยจากอินเทอร์เน็ต Social Trade Crime เตือนภัยจากอินเทอร์เน็ต เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ของปลอม การแฮกเฟซบุ๊กแล้วทักขอยืมเงินโดยสวมรอยเป็นคนรู้จัก การนัดผู้หญิงทางอินเทอร์เน็ตแล้วฝ่ายหญิงบอกเพื่อนมิจฉาชีพให้เข้ามาแบล็กเมล์ เพื่อแลกกับชื่อเสียงและหน้าที่การงาน ต้องสูญเงินนับแสนบาท การหลอกลวงใบหน้าที่แท้จริงแล้วลวงนัดหมายเหยื่อเพื่อทำมิดีมิร้าย แนะนำให้ตรวจสอบก่อน อย่าหลงเชื่อข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
ตอนที่ 6 ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากความโลภ ถูกข่มขู่ ความกลัว หลงเชื่อ ตกใจ ขาดสติ และความรู้ไม่เท่าทัน เป็นสาเหตุให้เงินในบัญชีธนาคารที่สะสมมาทั้งชีวิตหายเกลี้ยงในพริบตา เพราะถูกหลอกให้โอนเงิน แนะนำให้มีสติ อย่าเชื่อง่าย หวงข้อมูล และตรวจเตือน
ตอนที่ 7 ภัยจากแก๊งตบทอง ต้มตุ๋นสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความโลภของผู้หลงกลตกเป็นเหยื่อ มิจฉาชีพส่วนใหญ่จะทำกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป คนหนึ่งแกล้งทำเป็นทำสร้อยคอทองคำตก เมื่อเหยื่อเก็บทองได้จะมีอีกคนหนึ่งเข้ามาตีสนิท แลกสร้อยคอทองคำ เมื่อหลงกลแลกสร้อยคอทองคำแล้ว นำทองคำไปขึ้นเงินอาจต้องถูกสอบสวน อีกตัวอย่างหนึ่งคือคนร้ายทำทีเป็นเอาสร้อยคอทองคำไปขาย แล้วแกล้งสับเปลี่ยนสร้อยทองคำปลอมเมื่อเผลอ ทำให้ร้านทองสูญทั้งเงิน สูญทั้งทองคำ
อนึ่ง สำหรับคลิปโฆษณาดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าผลิตขึ้นในปี 2558 แต่ปัจจุบันยังคงมีคดีอาชญากรรมในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ
ชมคลิป คลิกที่นี่