xs
xsm
sm
md
lg

คาร์บอนเครดิต ตัวเร่งฟื้นฟูโลกสีเขียว กระตุ้นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ต้นไม้” นอกจากจะให้ความชุ่มชื้น เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศตามธรรมชาติ และคืนความสมดุลให้กับความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว คุณสมบัติสำคัญที่ทุกคนทราบกันดี ก็คือ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ความสามารถในการดูดซับหรือกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ จะเป็นตัวสร้างรายได้ที่มีมูลค่ามหาศาลต่อไปในอนาคต นั่นหมายถึง ยิ่งมีต้นไม้จำนวนมากเท่าไร การสร้างรายได้ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยประกาศจะมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 นั้น


การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิด ทั้งจากภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคการกำจัดของเสียแล้ว การเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินนับเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy)

มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ตลอดจนการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท ร้อยละ 5 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ถึง 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การนำของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบริหารจัดการภาคการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และภาพรวมในการบริหารจัดการที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นทางอย่างใกล้ชิด

โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนากลไก “ตลาดคาร์บอน” หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง “คาร์บอนเครดิต” เปรียบเสมือนสินค้าประเภทหนึ่ง ที่เป็นตัวเลขปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่ได้มาจากโครงการต่างๆ เช่น การปลูกป่าอนุรักษ์ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (CCS) ฯลฯ ซึ่งสามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายได้ โดยต้องมีการแปลงหน่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหน่วยกลางที่เรียกว่า ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


ทั้งนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO จะร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งผลักดันและสนับสนุนการจัดตั้งตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ พัฒนาระบบการคำนวณและระบบการลงทะเบียน รวมถึงแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้เป็นระดับสากล มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ สร้างราคาอ้างอิงที่ยุติธรรม สะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง สะดวก และรวดเร็ว เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตลอดจนช่วยเร่งให้การพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทยกระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังได้ออกระเบียบส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูก บำรุงรักษาและฟื้นฟูป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่สามารถแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกันได้ ซึ่งภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการปลูกป่า จะต้องขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของรัฐ กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อน จึงจะร่วมปลูกและดูแลรักษาป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยได้รับการแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิตในสัดส่วน ร้อยละ 90 และหน่วยงานของรัฐเจ้าของพื้นที่ ร้อยละ 10 หรือตามตกลง

ดังนั้น นโยบายหรือมาตรการที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ และความร่วมมือของภาคเอกชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงมีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยเพิ่มต้นไม้ ฟื้นฟูโลกสีเขียว ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน







กำลังโหลดความคิดเห็น