xs
xsm
sm
md
lg

"การเคหะฯ" โต้ทุจริต-ฟอกขาวโครงการเอื้ออาทรอื้อฉาว ก่อนปัดฝุ่นผุด "เคหะเปี่ยมสุข สมุทรปราการ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ออกโรงชี้แจงกรณีถูกบริษัทเอกชนร้องดีเอสไอ ปมการเคหะฯ บุกรุกยึดโครงการบ้านเอื้ออาทร เทพารักษ์ 4 ก่อนจะทำการปัดฝุ่นเป็นโครงการ “บ้านเคหะสุขเกษม” แทน

จากกรณีที่ฝ่ายบริหารการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ออกโรงชี้แจงสื่อมวลชน กรณีถูกบริษัทเอกชนร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปมที่การเคหะฯ บุกรุกเข้าไปยึดโครงการบ้านเอื้ออาทร เทพารักษ์ 4 เพื่อปัดฝุ่นดำเนินโครงการ “บ้านเคหะสุขเกษม” ที่เตรียมเปิดขายให้ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐที่เกษียณอายุได้เข้ามาอยู่อาศัย

โดยนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการเคหะฯ ยืนยันว่า การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ได้เป็นการบุกรุกยึดโครงการ แต่เป็นโครงการที่การเคหะเป็นเจ้าของอยู่แล้ว เพราะได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการกับบริษัทเอกชนคือ บริษัทเพียงประกายก่อสร้าง จำกัด เมื่อปี 2549 แต่ท้ายที่สุดบริษัทไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จตามสัญญา แม้จะขยายเวลาก่อสร้างให้แล้วกว่า 3 ปี แต่ก็ไม้สามารถดำเนินการต่อได้ จึงต้องใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาและดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในที่สุด ซึ่งปัจจุบันคดีความฟ้องร้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ผู้ว่าการเคหะฯ กล่าวว่า การเคหะได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทต่อศาลปกครองเมื่อปี 2556 และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อ 24 ก.ย.2562 ให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญา 131.55 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนการเคหะต้องชำระเงินแก่บริษัทเป็นค่าก่อสร้างที่ยังไม่ได้เบิกจำนวน 28.71 ล้านบาท แต่ทั้งสองฝ่ายได้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้นการเข้าไปปรับปรุงโครงการของการเคหะนั้น ย่อมสามารถดำเนินการได้ ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความที่ฟ้องร้องกันอยู่

อย่างไรก็ตาม นายประสิทธิ์ เด่นนภาลัย เจ้าของโครงการ ได้ออกมาตอบโต้ฝ่ายบริหารการเคหะฯ ข้างต้นนี้ว่า หากโครงการนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่ เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างการเคหะฯและบริษัทเอกชนธรรมดาๆ แต่บริษัทเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา แม้จะขยายเวลาก่อสร้างให้แล้วกว่า 3 ปีก็ยังทำไม่ได้ การเคหะย่อมใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาและฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่ประเด็นที่ผู้ว่าการเคหะไม่ได้พูดถึงหรือเลี่ยงที่จะกล่าวถึง ก็คือ จริงหรือไม่ที่โครงการนี้มีขบวนการบีบให้บริษัทเอกชนต้องจัดซื้อที่ดินตาบอดนอกเหนือจากสัญญาโครงการที่มีต่อกัน และยังนำเอาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง “กำมะลอ”เข้ามาร่วมสังฆกรรมเบิกงบกินหัวคิวมีการสั่งให้ปรับผังโครงการก่อสร้าง โยกพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเปิดทางให้มีการนำเอาที่ดินตาบอดเข้ามาผนวกร่วมในโครงการจนนำไปสู่การฟ้องร้องกันนัวเนียในช่วงปี 2552 ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้การเคหะพ่ายแพ้คดีและต้องถอนบริษัทรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวออกไป

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องที่บอร์ดและฝ่ายบริหารการเคหะสั่งหั่นโครงการลงมาเหลือ 1 ใน 3 ของสัญญาโดยอ้างว่า บริษัทเอกชนก่อสร้างได้ล่าช้าไม่เป็นไปตามสัญญา ทั้งที่การก่อสร้างโครงการในระยะที่ 1 และ 2 จำนวน 84 อาคาร 4,500 กว่าหน่วยก่อนหน้านั้น บริษัทสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็วกว่าแผนภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี แต่เมื่อถูกสั่งให้ลดขนาดโครงการลงมาเหลือแค่ 1 ใน 3 ของสัญญาคือให้ทำแค่ 42 อาคาร 900 กว่าหน่วยก็ทำเอาบริษัทล้มทั้งยืน ก่อนจะนำมาซึ่งการยุติการก่อสร้าง และถูกบอกเลิกสัญญาตามมา โดยที่ทั้งบริษัทและการเคหะต่างก็ใช้สิทธิ์ฟ้องร้องกันนัวเนียตามมา

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังรอคดีความในชั้นศาลปกครองสูงสุดนั้น จู่ๆ การเคหะกลับไปลากเอาบริษัทรั่บเหมาก่อสร้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการปรับปรุงอาคารเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นโครงการบ้านเคหะเปี่ยมสุข โดยมีแผนที่จะขายโครงการให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐที่เกษียณแล้วมาใช้ โดยอ้างเป็นกรรมสิทธิ์ของการเคหะอยู่แล้ว ทั้งที่ยังมีคดีความฟ้องร้องกันอยู่ โดยบริษัทเอกชนยังคงยืนยัน ตนเองยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตั้งโครงการ โดยยืนยันว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในอดีตไปยังการเคหะนั้น เป็นการโอนที่ดินอย่างมีเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่วางไว้ เมื่อทั้งสองฝ่าย ไม่ประสงค์จะดำเนินโครงการต่อก็ต้องกลับไปสู่สถานะเดิมของแต่ละฝ่าย เพราะโครงการนี้เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หาใช่โครงการก่อสร้างที่การเคหะตั้งงบขึ้นมาดำเนินการแล้วว่าจ้างเอกชนหรือรับเหมาเข้ามาดำเนินการ ซึ่งหากเอกชนไม่ทำตามสัญญาย่อมสามารถใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาบทเรียนจาก “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่การรถไฟและกระทรวงคมนาคม ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชน ด้วยมูลเหตุที่เอกชนก่อสร้างโครงการล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญาจึงต้องใช้สิทธิ์บอกเลิกหสัญญาและสั่งห้ามเอกชนเข้าโครงการ ก่อนจะนำมาซึ่งการฟ้องร้องกันนัวเนีย จนในท้ายที่สุดกลับกลายมาเป็นค่าโง่ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคาสั่งการการรถไฟฯและกระทรวงคมนารคมต้องร่วมกันชดใช้ความเสียหายให้แก่เอกชน วงเงินกว่า 25,000 ล้านบาท (เงินต้น 11,888 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่ปี 2552)นั้น

หากเทียบเคียงกับกรณีที่การการเคหะใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาโครงการนี้และอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของโครงการทั้งที่ตลอดระยะเวลากว่า 11-12 ปีที่ผ่านมากลับไม่เคยได้ลงไปดูแลโครงการ ก่อนจะนำเอาผู้รับเหมารายใหม่เข้าไปปรับปรุงอาคารเพื่อผุดโครงการใหม่นั้น ดูเหมือนเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาแทบจะถอดแบบมาจากโครงการโฮปเวลล์ทุกกระเบียดนิ้ว

จุดนี้เองที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล และย้อนถามไปยังการเคหะแห่งชาติว่า ไม่คิดจะหารือประเด็นข้อกฎหมายไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด หรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนดำเนินการบ้างเลยหรือ? อย่างน้อยจะได้เป็นเกราะกำบังป้องกันตนเองไม่ทำให้เกิดค่าโง่เอาได้ในอนาคต เพราะอย่าลืมว่า โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการนี้ คือ 1 ในมหากาพย์ทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร 600,000 หน่วย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งจะมีคำพิพากษาฟันอดีต รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และลิ่วล้อบริวารผู้เกี่ยวข้องไปนับ 10 รายไปปลายปีก่อน ขณะนี้ยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์คดีก่อนอยู่เลย

จึงเป็นไปได้หรือที่โครงการนี้จะมีการดำเนินการอย่างใสซื่อ ไม่มีนอกมีใน ยิ่งรัฐบาลเองมีบทเรียนกรณี “ค่าโง่โฮปเวลล์” กว่า 25,000 ล้านบาทที่เป็นผลมาจากการใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ที่จนป่านนี้ทั้งการรถไฟฯ กระทรวงคมนาคมยังปิดบัญชีไม่ลงว่าใครจะต้องรับผิดชอบด้วยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น