xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก 76 ปี โรงเรียนวรรณวิทย์ไปต่อไม่ไหวแล้ว ยุติการเรียนการสอนเทอมนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดตำนานโรงเรียนวรรณวิทย์ ในซอยสุขุมวิท 8 ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 76 ปี หลังประสบปัญหาขาดทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี เพราะสถานการณ์โควิด-19 ผู้ปกครองค้างค่าเทอม แต่ยังทำการเรียนการสอนต่อไป กระทั่งไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้แล้ว เตรียมจัดงานรำลึกโรงเรียน 26 ก.พ.นี้ รายได้มอบให้ครูแทนคำขอบคุณครั้งสุดท้าย

วันนี้ (21 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า โรงเรียนวรรณวิทย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 8 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ จะยุติการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี นักเรียนลดจำนวนลงเรื่อยๆ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ปกครองที่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย จ่ายค่าเทอมไม่ตรงเวลา แต่ก็ยังทำการเรียนการสอนตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งมาตลอด กระทั่งมติคณะกรรมการและครูมีความเห็นว่า โรงเรียนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้แล้ว จึงได้ยุติการเรียนการสอนดังกล่าว

ทั้งนี้ โรงเรียนวรรณวิทย์ กำลังจะจัดงานที่มีชื่อว่า "สิ้นเสียงระฆังวรรณวิทย์" ในวันเสาร์ที่ 26 ก.พ. 2565 เวลา 10.00-18.00 น. เป็นต้นไป โดยภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งโรงเรียน และมีการจัดบูธออกร้านค้า โดยมีการจำหน่ายบัตรเข้างานในราคา 500 บาท และเปิดรับบริจาคสมทบทุน เพื่อมอบให้ครูโรงเรียนวรรณวิทย์แทนคำขอบคุณครั้งสุดท้าย ได้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาสำนักนานาเหนือ เลขบัญชี 000-0-50588-9 ชื่อบัญชี นางนิตยา ตัญยงค์ และ ... (บัญชีร่วม) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 089-0146015 และ 081-9072177

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

สำหรับโรงเรียนวรรณวิทย์ ก่อตั้งโดย หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา นักเขียนเจ้าของนามปากกา วรรณสิริ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2489 หรือเมื่อ 76 ปีก่อน ที่เรือนไม้ชั้นเดียวในซอยสมาหาร ถนนนานาใต้ มุ่งมั่นที่จะให้เป็นสถานศึกษา ที่ให้ทั้งวิชาความรู้ รวมทั้งอบรมสั่งสอนศิลธรรม จรรยา ขนบประเพณี และพลศึกษาไปด้วย ในระยะแรกเริ่มก่อตั้งมีนักเรียนเพียง 7 คน โดยมีหม่อมผิวเป็นครูใหญ่ ไม่เคยเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยและแม้ใครค้างค่าเล่าเรียนก็อนุญาตให้สอบไล่ได้ โรงเรียนได้ขยายกิจการขึ้นเรื่อยๆ มีนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี และได้เพิ่มชั้นเรียนขึ้นจนถึงชั้นมัธยม 6 (ม.3 ในปัจจุบัน)

เมื่อหม่อมผิวมีอายุมากขึ้น จึงมอบหมายให้ธิดาคนเล็กคือ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ เป็นผู้จัดการ และครูใหญ่แทน โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2497 และต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ยกฐานะโรงเรียนขึ้นเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล จึงได้ซื้อที่ดินด้านหน้าซอย 8 และได้ขยายอาคารมาเรื่้อยๆ เด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตคลองเตย ชุมชนไผ่สิงโต ชุมชนโรงงานยาสูบ รวมทั้งส่วนหนึ่งมาจากชุมชนมักกะสัน เขตราชเทวี ทางโรงเรียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ การใช้เสียงระฆังเป็นสัญลักษณ์ในการส่งสัญญาณเปลี่ยนคาบเรียน

แต่เมื่อโรงงานยาสูบ ย้ายไป จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้มีเด็กลาออกหลายคนตามพ่อแม่ที่ย้ายโรงงาน กระทั่งระยะหลังเผชิญกับสถานการณ์รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เนื่องจากชุมชนหายไป และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผู้ปกครองเลื่อน ถึงขนาดนำเงินเดือนของครูมาช่วย แต่ด้วยที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ ที่ผ่านมามีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาติดต่อโรงเรียน เพื่อขอซื้อที่ดินโรงเรียนดังกล่าวนับร้อยล้านบาท เพื่อทำเป็นโรงแรมและคอนโดมิเนียม แต่ ม.ร.ว.รุจีสมร ยืนยันว่าจะไม่ขายที่ดิน ปัจจุบัน ม.ร.ว.รุจีสมร มีอายุ 102 ปี ใช้ชีวิตในบ้านหลังเล็กๆ รั้วเดียวกันกับโรงเรียน

อ่านประกอบ : พันล้านก็ซื้อไม่ได้ “ม.ร.ว.รุจีสมร”ย้ำ ให้“โรงเรียนวรรณวิทย์”เป็นที่พึ่งเด็กยากจน










กำลังโหลดความคิดเห็น