xs
xsm
sm
md
lg

พันล้านก็ซื้อไม่ได้ “ม.ร.ว.รุจีสมร”ย้ำ ให้“โรงเรียนวรรณวิทย์”เป็นที่พึ่งเด็กยากจน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “โรงเรียนวรรณวิทย์” โรงเรียนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ และครูใหญ่ของโรงเรียนกับวัยร่วมร้อยปี “ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์” ผู้สานต่ออุดมการณ์ของ “หม่อมผิว” มารดา ในการยืนหยัดให้โรงเรียนเป็นที่พึ่งของเด็กยากจนได้ศึกษาเล่าเรียน เพื่อเป็นคนดีของสังคมในภายภาคหน้า ...แม้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากค่าเทอมราคาถูก จนแทบอยู่ไม่ไหว แต่จะไม่ขายที่ดินและโรงเรียนนี้ให้นายทุนทำธุรกิจ



หากใครได้มีโอกาสผ่านไปย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ แถวสุขุมวิท ซอย 8 อาจไม่คาดคิดว่า ท่ามกลางตึกสูงระฟ้า ยังมีโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งตั้งอยู่ คือ โรงเรียนวรรณวิทย์ ภาพตึกสูงที่ห้อมล้อมโรงเรียนเรือนไม้ ให้ความรู้สึกตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เหมือนอยู่กันคนละยุคสมัย อดีตกับปัจจุบัน

แทบไม่น่าเชื่อว่า วันนี้ โรงเรียนวรรณวิทย์ มีอายุ 73 ปีแล้ว หลังก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2489 โดยหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ที่ซื้อที่นาบริเวณนี้ ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นโรงเรียน เพื่อให้เด็กยากจนได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน

“ปณิธานของหม่อมผิวเนี่ย ท่านต้องการให้เด็กยากจน ได้มีที่เรียน เพราะเด็กที่นี่เป็นเด็กชุมชน เพราะฉะนั้นไม่มีโอกาสจะเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ไม่มีโอกาสเรียนโรงเรียนพระมหาไถ่ ไม่มีโอกาสเรียนโรงเรียนวัฒนาฯ เพราะฉะนั้นก็มีโรงเรียนวรรณวิทย์ ตรงนี้แหละปณิธานของท่าน ต้องการให้โอกาสเด็กในชุมชนได้มีที่เรียน ได้เป็นคนดีของสังคม ไม่เป็นภาระ” พิสมัย ชื่นอังกูร ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์

หม่อมผิว ไม่เพียงเป็นครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์ แต่ยังเป็นนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย เจ้าของนามปากกา “วรรณสิริ” มีผลงานมากมาย เช่น “วนิดา” “นางทาส” “พรหมลิขิต” ฯลฯ ซึ่งได้รับความนิยมจนทีวีขอไปทำละคร

หลังสิ้นหม่อมผิว ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ธิดา รับหน้าที่เป็นครูใหญ่สืบสานปณิธานต่อตั้งแต่ปี 2497 ซึ่งโรงเรียนวรรณวิทย์ได้มีการขยับขยายขึ้นเรื่อยๆ รองรับความต้องการของผู้ปกครองที่ส่งเด็กมาเรียนจำนวนมาก จากเด็กแค่ 7-8 คนในยุคก่อตั้ง เพิ่มขึ้นนับพันคน ก่อนจะลดลงจากผลของการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ของคนในชุมชน

“(ถาม-เด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไหน?) เด็กแถวคลองเตยเยอะ ชุมชนไผ่สิงห์โต มักกะสัน เด็กที่โรงงานยาสูบก็เยอะ ตอนนี้โรงงานยาสูบเขาย้าย ย้ายไปอยุธยา เด็กลาออกตั้งหลายคน เพราะต้องตามพ่อแม่ไป (ถาม-ปัจจุบันเรามีนักเรียนกี่คน?) ถ้าไม่นับเด็กเล็ก 295 คน (ถาม-เราเปิดกี่ชั้น?) ป.1-ม.3 แต่ก่อนเป็น ม.6 แต่ก่อนมี 1-2 ห้อง อย่าง ป.1 มี 2 ห้อง ห้อง ก ห้อง ข หรือ /1 /2 อะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้จะเหลือห้องเดียว จะเหลือ 2 ห้องอยู่ไม่กี่ห้อง (ถาม-ตอนนี้มีครูกี่คน?) ครู 26 คน (ถาม-เพียงพอต่อการสอนไหม?) ก็พอนะ ครูที่นี่ก็อดทนดีนะ ป้อนชั่วโมงให้มากเท่าไหร่ เขาก็รับได้ ทุกคนทำเพื่อโรงเรียน อยากให้โรงเรียนอยู่ไปนานๆ” พิสมัย ชื่นอังกูร ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์

ด้วยอุมการณ์ของผู้ก่อตั้งที่อยากให้เด็กยากจนได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน โรงเรียนวรรณวิทย์จึงเก็บค่าเทอมราคาถูก เพราะสงสารผู้ปกครองและเด็ก บางรายจนก็จนจริงๆ ขณะที่ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์ ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่สอนเด็ก แต่ยังห่วงเด็กเหมือนลูกหลานอีกด้วย

“จนก็จนจริงๆ เด็กบางทีมาวันหยุดวัน ทำไมหนูไม่มาโรงเรียนล่ะจ๊ะ แม่ไม่มีสตางค์ให้มา ค่าขนม ค่ารถ ก็ต้องหยุดอยู่กับบ้าน บางทีผู้ปกครองมา หลังโรงเรียนมีต้นตำลึง เขาก็เก็บ เขาบอกเก็บไปแกงให้ลูกกิน ไม่ต้องซื้อกับข้าว บางคนเขาก็มีค่าเล่าเรียนให้ แต่บางคนไม่ให้ ไม่ใช่เพราะจนนะ ไม่ให้เอง ไม่อยากจะให้ เรียนฟรีก็มี ครูใหญ่จะนั่งตรงนั้น ขายของ เด็กเข้ามาซื้อ ท่านจะถาม ซื้อหนังสือซื้อสมุดแล้ว มีเงินหรือเปล่าลูก มีเงินเหลือไหม ถ้าไม่มี เอาไปฟรี ให้ไปฟรีๆ” พิสมัย ชื่นอังกูร ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์

“นโยบายของท่าน ท่านให้ช่วยนักเรียน ให้ดูแลนักเรียนอย่างดีที่สุด ไม่ดุ เราคุยกันด้วยเหตุผล ท่านก็สอนอยู่เรื่อย อย่าตีนักเรียน” รัตนาภรณ์ บุนนาค ครูประจำชั้นอนุบาล โรงเรียนวรรณวิทย์

“ครูใหญ่อยากให้เด็กดี อยากให้เด็กเป็นกำลังของชาติ เป็นเด็กไทยที่มีทั้งกิริยามารยาท มีทั้งความรู้ เพียบพร้อมหมด ท่านก็ปลูกฝัง” พิสมัย ชื่นอังกูร ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์

แม้โรงเรียนวรรณวิทย์จะเผชิญกับสถานการณ์รายได้ไม่พอกับรายจ่าย แต่ครูใหญ่อย่าง ม.ร.ว.รุจีสมร ไม่เคยถอดใจ ยืนยันกับครูทุกคนที่นี่ให้ “สู้” และพร้อมให้นำเงินเดือนของท่านมาต่อลมหายใจให้โรงเรียนและเด็กๆ

“เมื่อก่อนอยู่ได้ แต่ตอนนี้เริ่มไม่ไหวแล้ว เด็กน้อยลง ชุมชนเราหายไปหมดเลย (ถาม-แก้ปัญหาอย่างไร?) ทุกวันนี้รัฐบาลท่านให้มาส่วนหนึ่ง โรงเรียนให้อีกส่วนหนึ่ง แล้วทำไง รับบริจาค (ถาม-ไม่คิดปรับเพิ่มค่าเทอม?) แค่นี้เขายังไม่มีเลย บางคนต้องมาให้วันละ 50 วันละ 100 นี่คือเรื่องจริงนะ เด็กๆ ศิษย์เก่าประทับใจเราก็ตรงนี้ ไม่มีค่าเทอม ท่านก็เมตตานะ (ถาม-ถ้ามองระยะยาว จะยืนระยะได้นานไหม?) ก็ต้องทำถึงที่สุด พยายามทุกทาง (ถาม-เคยคุยกับครูใหญ่ไหม ถ้าไม่ไหวทำอย่างไร?) ท่านบอก สู้ ท่านจะให้สู้อย่างเดียว ถ้าไม่สู้ สมมุติล้มครืนไป แล้วเด็กพวกนี้ล่ะ เด็กพวกนี้จะไปกองไว้ตรงไหน เพราะโรงเรียนที่จะรองรับ แถวนี้ก็ลำบาก“ นิตยา ตันยง ครูและกรรมการบริหารโรงเรียนวรรณวิทย์

“เราพยายามจะประคับประคองให้มันอยู่ได้ แล้วก็ช่วยกัน ใครมีความคิดช่วยเหลือโรงเรียนได้ เอามาพูดกัน ลองทำดูสิได้ไหม อย่างเราเคยขายข้าวแกง เป็นอาหารกลางวันของเด็ก พวกครูลงไปทำกันเอง ขายให้เด็ก ตอนหลังมันเหนื่อย ครูก็ไม่ไหว ให้คนอื่นมาขายแทน (ถาม-ครูใหญ่เคยให้เอาส่วนหนึ่งของรายได้ของท่านมาเป็นค่าใช้จ่ายที่โรงเรียน?) รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ท่านก็เอาเงินเดือนของท่าน หักมา มาช่วย ครูอื่นๆ ก็ช่วยตาม“ พิสมัย ชื่นอังกูร ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์

แม้ยากลำบากแค่ไหน แต่ ม.ร.ว.รุจีสมร ครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์ ก็ไม่เคยคิดขายที่ดินที่ตั้งโรงเรียนนี้ที่มีเกือบ 3 ไร่ ให้กับนายทุน เพราะเงินกี่ล้านก็ไม่สามารถแลกความรักความตั้งใจที่จะให้โรงเรียนแห่งนี้ได้อยู่ต่อ เพื่อสร้างเด็กที่ดีให้กับสังคมต่อไป

“มีหลายรายที่เคยมาพูดกับตัวเองก็มี ก็บอกไปว่า ท่านเจ้าของโรงเรียนท่านไม่ขายหรอก เป็นญี่ปุ่นก็มี เกาหลีก็มี ที่เคยมาถาม เขาบอกเขาจะทำโรงแรม เพราะที่นี่สะดวก ใกล้ (ถาม-แล้วครูใหญ่บอกว่าอย่างไร?) ท่านบอกว่าไม่ขาย ยังไงฉันก็ไม่ขาย ถ้าขายแล้ว เด็กฉันจะไปอยู่ที่ไหน โรงเรียนแถวนี้มีแต่แพงๆ ทั้งนั้น เด็กๆ ของเราไม่มีปัญญาไปเรียนได้ ตามอุดมการณ์ของเจ้าของโรงเรียน ท่านก็บอกว่า ถึงเด็กจะยังไงก็แล้วแต่ เราขอให้เป็นเด็กดี มีคุณค่า ให้มีวิชาติดตัวไป การใช้ชีวิตสอนได้ เราก็สอนไป” ครูพิสมัย ชื่นอังกูร ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์

วันนี้ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์ ในวัยร่วมร้อยปี แม้สภาพร่างกายจะเสื่อมถอยลงตามวัย แต่จิตใจของท่านยังหนักแน่นกับศรัทธาและอุดมการณ์ที่แน่วแน่ตั้งมั่นที่จะให้โรงเรียนแห่งนี้ดำรงอยู่ตราบเท่าที่ลมหายใจของท่านยังมี “ทำโรงเรียนให้ดี ให้เด็กเป็นคนดี แล้วเราจะหนีการทำให้เด็กเป็นคนดี ควรแล้วเหรอ? สู้”

“ตอนนี้รายจ่ายมากกว่ารายรับ ทุกเดือนที่อยู่ได้เพราะปาฏิหาริย์ ครูก็ยกมือไหว้ขอหม่อมผิวว่า ขอให้รอดไปแต่ละเดือนๆ อยากให้ครูใหญ่สุขภาพแข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรต่อไปเท่านั้นเอง โรงเรียนวรรณวิทย์จะอยู่ตลอดไปได้ อยู่ที่ครูใหญ่ ถ้าท่านแข็งแรง วรรณวิทย์ก็ยังอยู่” วราพร พงษ์รูป ครูฝ่ายวิชาการ

“รักครูใหญ่มาก และอยากให้ครูใหญ่อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเราอีกนานๆ อยากดูแลท่าน มองด้วยสายตาก็ได้ ขอแค่ได้ยินว่าท่านยังอยู่ ท่านยังกินข้าวได้ ท่านยังปฏิสัมพันธ์กับทุกคนได้เหมือนเดิม เราก็ดีใจแล้วนะ เราไม่ทิ้งท่านหรอก เพราะเราก็อยู่กับท่านมานาน” หญิง วรรณโกวิท ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวรรณวิทย์ และหลาน ม.ร.ว.รุจีสมร

และนี่คือคำขอบคุณจาก ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่ ถึงครูโรงเรียนวรรณวิทย์ทุกคนที่อยู่ร่วมสานเจตนารมณ์แห่งการสร้างเด็กให้เป็นคนดีของสังคมต่อไป

“ขอบคุณที่เอาใจใส่คนแก่แล้ว ขอบคุณที่ช่วยให้โรงเรียนเจริญ ช่วยให้เด็กดี”

หากท่านใดต้องการสนับสนุนหรือช่วยเหลือโรงเรียนวรรณวิทย์ให้อยู่คู่กับสังคมไปนานๆ สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาสิงห์ คอมเพล็กซ์ ชื่อบัญชี โรงเรียนวรรณวิทย์ เลขที่บัญชี 015-136-456-7

ติดตามรับชมรายการ ฅนจริง ใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ News1(IPM ช่อง 64, PSI ช่อง 211)

รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos
กำลังโหลดความคิดเห็น