xs
xsm
sm
md
lg

“อ.ไชยันต์” เปิดเอกสาร “เสรีไทย” ใส่ร้าย ร.9 กรณี ร.8 สวรรคต แต่ “ณัฐพล” จงใจแปลบิดเบือน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อ.ไชยันต์” เปิดเอกสารชี้ชัด “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” เผยว่า “เสรีไทยวางแผนใส่ร้าย ในหลวง ร.9 ว่า สังหารพี่ชาย เพื่อให้ประชาชนยอมรับสาธารณรัฐ” แต่ “ณัฐพล ใจจริง” ที่อ้างอิงเอกสารดังกล่าว กลับจงใจไม่พูดถึงเลย แล้วยังแปลบิดเบือนเป็นว่า “เสรีไทยมีแผนการจะประกาศว่าใครคือบุคคลที่สังหารรัชกาลที่ 8” จนเกิดการเอาไปขยายผลแบบผิดเพี้ยน สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

วันที่ 13 ม.ค. 2565 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ...

อีกแล้วครับ ท่าน !

“ทุ่นดำ-ทุ่นแดง” กับ “กรณีจอมพลผิน ชุณหะวัณ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ตัดหน้า เพราะเสรีไทยกลุ่มปรีดีที่มีแผนจะประกาศว่าใครสังหารรัชกาลที่ 8 และจะประกาศตั้งสาธารณรัฐขึ้น” ในงาน ของ ณัฐพล ใจจริง

กรณีที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ

เหตุการณ์ช่วงเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยคณะรัฐประหารที่นำโดยกลุ่มราชครู ที่มี จอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นแกนนำ

ซึ่งหนึ่งในข้ออ้างในการทำการรัฐประหารดังกล่าว คือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่รัฐบาลเก่าของหลวงธำรงฯ มิอาจสามารถคลี่คลายได้ (และไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆ หากยึดตามเอกสารต่างประเทศที่พอจะพูดถึงไว้บ้าง)

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเอกสารย้อนหลัง พวกเรากลับพบเจอกับความ “ไม่ซื่อสัตย์ทางด้านวิชาการ” ของ ณัฐพล ใจจริง อีกครั้งโดยบังเอิญ

ซึ่งในครั้งนี้เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการใช้เอกสารชั้นต้นที่ ณัฐพล “จงใจบิดเบือน” หรือ “แปลงสาส์น”

ข้อความต่อไปนี้คือข้อความที่ณัฐพลได้บรรยายไว้ทั้งในวิทยานิพนธ์ และ หนังสือ ขุนศึกฯ

1. ข้อความที่เกี่ยวข้อง
ข้อความที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง ในวิทยานิพนธ์หน้า 65 ณัฐพลได้ระบุข้อความไว้ว่า “ราว 1 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร จอมพลผิน ชุณหะวัณ แกนนำคนสำคัญในคณะรัฐประหารได้กล่าวอ้างว่า เขาได้ทำรัฐประหารตัดหน้าเสรีไทย “กลุ่มปรีดี” ที่มีแผนการจะประกาศว่า ใครคือบุคคลที่สังหารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในพระบรมโกฐ [รัชกาลที่ 8/ ทุ่นดำทุ่นแดง] และจะทำการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น”

ข้อความที่ปรากฏใน ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และในหนังสือก็ปรากฏข้อความนี้เช่นเดียวกันในหน้า 61 ดังข้อความว่า

“ราวหนึ่งสัปดาห์หลังการรัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แกนนำคนสำคัญในคณะรัฐประหาร กล่าวว่า เขาได้ทำรัฐประหารตัดหน้าเสรีไทยกลุ่มปรีดี ที่มีแผนการจะประกาศว่าใครคือบุคคลที่สังหารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และจะทำการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น”

ข้อความทั้ง 2 ส่วนนี้ ณัฐพลอ้างเอกสารฉบับเดียว คือ NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, 16 November 1947 (16 พฤศจิกายน พ.ศ.2490) ซึ่งพวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้มีโอกาสถือครองสำเนาของเอกสารดังกล่าวเช่นกัน

2. ข้อค้นพบ
จากการตรวจสอบเอกสารฉบับดังกล่าวอย่างละเอียด อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาในเอกสารจริงๆ ที่ผู้เขียน คือ Edwin Stanton ทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่มีไปถึงกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา อาจถือได้ว่าเนื้อความที่ณัฐพลยกมานั้นเป็นการ “พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ” เลยก็ว่าได้ เนื่องจากข้อความเหล่านั้นปรากฏเนื้อหาคนละแบบ อีกทั้ง ณัฐพล ยังอาจจะจงใจแปลไม่ครบถ้วนอีกด้วย

ทั้งนี้ เอกสารระบุเนื้อความเพียงว่า

“เหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความสับสนในปัจจุบัน... ‘การเปิดเผยที่น่าตกใจ’ ของพลโท ผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นแกนหลักของฝ่ายหลวงพิบูล ซึ่งทางกองทัพได้ทำการรวบรวมรายชื่อ (rounding up) ของผู้เกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ผินเล่าว่า ... เขา ทางกองทัพได้ทำการสกัดกั้นคำสั่งจากโทรเลขลับถึง ... ชี้ว่า พวกเสรีไทยกำลังวางแผนสมคบคิดจะล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ... ซึ่งจะทำการยึดอำนาจแล้วประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ ยิ่งกว่านั้น การที่จะทำให้ประชาชนยอมรับสาธารณรัฐ บรรดาเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดได้วางแผนที่จะดิสเครดิต (discredit) ในหลวงองค์ปัจจุบัน โดยกล่าวหาว่าพระองค์คือผู้ที่สังหารพี่ชายของพระองค์เอง ทั้งนี้ ผินได้เล่าสืบไปว่า พล็อตเช่นนี้ (เรื่องที่ใส่ร้าย ร.9/ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) เพิ่งจะเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารนี้เอง...”

ข้อความต้นฉบับ คือ “Confused political situation still further … “startling revelation” made yesterday General Pin Chunhavan, who is Phibun’s principal lieutenant chat Army policy rounding up those who participated in ‘assassination’ late King.

Pin told … Army intercepted orders issued by secret radio to secret … all … country indicating Free Thai conspiracy overthrow Thamrong Government November 30, seize power declare republic. Further that in order make people accept republic, conspirators planned discredit present King by alleging he killed his brother. According … Pin, this plot hatched before present coup.”

และเมื่อได้ทำการเปรียบเทียบข้อความของณัฐพลทั้ง 2 แห่ง (ทั้งในวิทยานิพนธ์และหนังสือ) กับ เอกสารต้นฉบับของ E. Stanton ทูตสหรัฐ

หากผู้อ่านมีใจที่เป็นกลางและเป็นธรรม จะพบข้อเท็จจริงเพียงว่า
1. รายงานฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นี้ Stanton ทูตสหรัฐ ได้รายงานเพียงความเห็นของจอมพลผินในฐานะหัวหน้ารัฐประหารเท่านั้น โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าพวกเสรีไทย (กับจีนคอมมิวนิสต์) ได้สุมหัวกันเพื่อจะยึดอำนาจจากรัฐบาลหลวงธำรงฯ แล้วจะประกาศตั้งสาธารณรัฐไทยขึ้นมาแทน และเพื่อให้การสถาปนาสาธารณรัฐเป็นไปได้ พวกเขาจึงต้องวางแผนที่จะถอดพระมหากษัตริย์ออกด้วยการ “ดิสเครดิต” โดยกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 9 เป็นผู้ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8

อย่างไรก็ดี Stanton ได้กล่าวถึงกองกำลังเสรีไทยเท่านั้น และไม่มีข้อความในส่วนใดกล่าวถึง “เสรีไทยกลุ่มปรีดี” ตามที่ณัฐพลระบุเลย

2. หากยึดถือเนื้อความในเอกสารชั้นต้น “อย่างเคร่งครัด” เราไม่สามารถตีความหรือสามารถนำไปขยายความอ้างอิงต่อไปได้เลยว่า “เสรีไทยกลุ่มปรีดีมีแผนการจะประกาศว่าใครคือบุคคลที่สังหารรัชกาลที่ 8” ตามที่ณัฐพลได้ระบุไว้ในทั้งวิทยานิพนธ์และในหนังสือได้เลย

เพราะประโยคอันเป็นใจความสำคัญที่ ณัฐพล “จงใจ” ไม่พูดถึงเลยคือประโยคเต็มๆ ที่ว่า “การที่จะทำให้ประชาชนยอมรับสาธารณรัฐ บรรดาเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดได้วางแผนที่จะดิสเครดิต (discredit) ในหลวงองค์ปัจจุบัน โดยกล่าวหาว่า (alleging) พระองค์คือผู้ที่สังหารพี่ชายของพระองค์เอง ทั้งนี้ ผินได้เล่าสืบไปว่า พล็อตเช่นนี้ (เรื่องที่ใส่ร้าย ร.9) เพิ่งจะเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารนี้เอง”

ทั้งนี้ คำว่า การดิสเครดิต (discredit) และการกล่าวหา (alleging) ต่อ รัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาใส่ไว้ในประโยคนี้ด้วยหากจะกล่าวถึง

เพราะนี่คือประโยคและคำที่ Stanton จงใจเลือกสรรและใช้คำเหล่านี้ขึ้นมาเอง

เพราะไม่ว่าความจริงในกรณีสวรรคตจะเป็นอย่างไร แต่ข้อเท็จจริง (facts) ปรากฏเด่นชัด คือ รัชกาลที่ 9 ได้ถูกพวกเสรีไทยใส่ร้ายและดิสเครดิตก่อนการรัฐประหาร 2490 ตามแผนการสมคบคิด (conspiracy) (หากเรายึดถือตามคำพูดของจอมพลผินที่ Stanton ได้รายงานมาข้างต้น)

เมื่อมาถึงจุดนี้ เราขอให้ผู้อ่านพิจารณาตัดสินใจเอาเองว่า การที่ ณัฐพล บิดเบือนเนื้อความหลักจาก “แผนการสมคบคิดของพวกเสรีไทย” (Free Thai conspiracy) มาเป็น “เสรีไทยมีแผนการจะประกาศว่าใครคือบุคคลที่สังหารรัชกาลที่ 8” นั้นมีจุดประสงค์ที่ผิดไปการสื่อสารจากเอกสารต้นฉบับอย่างสิ้นเชิง

หรือถ้าจะกล่าวให้แคบลง เพียงแค่หลักการแปลความภาษาอังกฤษคำว่า conspiracy หรือ “แผนสมคบคิด” อันเป็นแผนที่ พจนานุกรมของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ให้ความหมายไว้ว่า “the activity of secretly planning with other people to do something bad or illegal” (การวางแผนอย่างลับๆ กับบุคคลอื่นๆ ในการที่จะทำในสิ่งที่เลวทรามหรือผิดกฎหมาย) กับ “แผนการ” (plan) อันเป็นแผนที่ไม่ได้มีแนวโน้มความรู้สึกในแง่ลบแต่อย่างใด

ตรงนี้ก็น่าจะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการที่ณัฐพลได้บิดเบือนการแปลความจาก “แผนสมคบคิด” เป็น “แผนการ” เขาเองก็มีเจตนาและทราบอยู่แก่ใจที่จะ “แปลงสาร” จากต้นฉบับให้มีควาหมายผิดเพี้ยนอันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในวงการวิชาการ

3. นอกจากในวิทยานิพนธ์และหนังสือของณัฐพลนี้แล้ว

“ผลไม้พิษ” ดังกล่าวได้ผลิออกดอกผลไปถึงเว็บไซด์สารานุกรมออนไลน์ยอดนิยม คือ Wikipedia (ประเทศไทย) ที่ได้อ้างอิงเนื้อความส่วนนี้จากวิทยานิพนธ์ของณัฐพลไปอย่างผิดพลาดซ้ำเข้าไปใหญ่

ดังปรากฏในหัวข้อ “การรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490” เชิงอรรถที่ 4 ที่ Wikipedia (ประเทศไทย) ระบุว่า

“จอมพลผิน ชุณหะวัณ แกนนำรัฐประหาร อ้างว่า สาเหตุหนึ่งที่ต้องก่อการเพราะปรีดีเตรียมประกาศชื่อผู้ลอบปลงพระชนม์ และตั้งสาธารณรัฐ”

ซึ่งข้อความดังกล่าวก็อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของณัฐพลมาอีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ เว็บไซด์ดังกล่าวมีเนื้อความที่แตกต่างกันกับจากทั้งต้นฉบับเอกสารและในวิทยานิพนธ์

เพราะไม่มีข้อความใดสักแห่งเดียวที่อ้างอิงมา ที่ระบุว่า “ปรีดี” จะเตรียมประกาศชื่อผู้ลอบปลงพระชนม์ นี่คือ ความผิดอย่างร้ายแรงอย่างหนึ่งของการอ้างอิงผิดๆ จากการตีความผิดๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจผิด ๆ อย่างที่ไม่น่าอภัยได้เลย

สรุป
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า เพียงแค่จุดผิดพลาดจุดเดียว (จากหลายๆ จุด) ของการตีความหรือแปลความที่บิดเบือนจากวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ อาจสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อวงการวิชาการ สังคม รวมถึงผู้สนใจในประเด็นดังกล่าว ที่ไม่ได้มีโอกาสตรวจสอบข้อมูลกับเอกสารชั้นต้น

เราจึงไม่อาจมองข้ามจุดผิดเล็กน้อยของการไร้ความรับผิดชอบทางวิชาการ ที่อาจสามารถนำไปขยายผลจนเกิดความเสียหายและกระทบต่อความรับรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้นได้เลย

ยิ่งกว่านั้น การปล่อยปละละเลยให้มีการอ้างอิงต่อแบบผิดๆ โดยที่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในการที่จะระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดเช่นนี้

เราจึงวิตกว่าในอนาคตการระงับพฤติการณ์ดังกล่าวคงจะสายเกินแก้เสียแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น