xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนไทยกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในแผ่นดินที่อยู่มากว่า ๕๐๐ ปี! ต้องร้องขอสิทธิเท่าเทียมเป็นพลเมือง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



คงเคยได้ยินชื่อ“สี่รัฐมาลัย” คำนี้เพิ่งมีขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากญี่ปุ่นยึดสิงคโปร์และมลายูได้ เปลี่ยนชื่อสิงคโปร์เป็น “โชนัน” และยกรัฐไทรบุรีหรือเคดะห์ กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ของมลายูคืนให้ไทย เพราะรัฐเหล่านี้เคยอยู่ใต้การปกครองของไทยมาก่อน แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไทยได้ยอมมอบรัฐทั้ง ๔ นี้ให้อังกฤษ เพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่คนอังกฤษในไทยไม่ต้องขึ้นศาลไทย

เมืองเหล่านี้จนถึงมะละกา เมืองใต้สุดของแหลมมลายู ซึ่งเคยมีชื่อว่า “สายบุรี” อยู่ใต้การปกครองของไทยมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นเมืองที่นับถือศาสนาพุทธมาก่อน แต่เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับชาวอาหรับมากขึ้น เจ้าชายปรเมศวร ผู้ปกครองมะละกาได้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนนามตามคติศาสนาเป็น เมกิตอิสกานเดอร์ชาห์ ทำให้มะละกากลายเป็นเมืองอิสลามไป และเป็นเมืองท่ามีการค้าขายจนมั่งคั่ง มีความเข้มแข็งทางการทหาร จึงไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยาเช่นเคย

ในปี พ.ศ.๑๙๙๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ส่งกองทัพไปตีเมืองมะละกา มีคนไทยจากเมืองเหนือติดตามกองทัพลงไปอยู่ตามเมืองรายทางในแหลมมลายูด้วย เมื่อตกเป็นของอังกฤษ หลายกลุ่มได้อพยพกลับมาอยู่เขตไทย แต่หลายคนก็ลงหลักปักฐานอยู่ที่นั่น จนมลายูได้รับเอกราชจากอังกฤษ คนไทยที่เหลืออยู่จึงกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ของสหพันธรัฐมาเลเซีย
มาเลเซียเป็นประเทศที่มีประชากรหลายเชื้อชาติ ในจำนวนประชากร ๓๒.๗ ล้านคน เป็นคนเชื้อสายมาเลย์ ๖๙.๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามกฎหมายที่ออกตอนได้เอกราช ถือว่าเป็น “ภูมิบุตรา” หรือ “บุตรของแผ่นดิน” นอกนั้นถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีจีน ๒๒ เปอร์เซ็นต์ อินเดีย ๖.๘ เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนไทยที่เรียกกันว่าชาวสยาม มีรวมกันประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน ยังไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ได้รับการรับรองว่าเป็นพลเมืองชั้น ๒ ต่างกับคนเชื้อสายจีนและอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นพลเมืองชั้น ๓

คนไทยเหล่านี้อยู่ในรัฐเคดะห์หรือไทรบุรีมากที่สุด ซึ่งตามประวัติหลวงพ่อทวดผู้เหยียบน้ำทะเลจืดก็ได้ไปสร้างวัดไว้ที่เมืองไทรบุรีด้วย รองลงมาคือรัฐกลันตัน ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดนราธิวาส กลุ่มนี้มักจะมีญาติอยู่ฝั่งไทยไปมาหากันตลอด นอกจากในรัฐตรังกานูและปะลิสแล้ว ก็ยังมีคนไทยอยู่ในปีนัง หรือเกาะหมาก เกาะลังกาวี และกรุงกัวลาลัมเปอร์

คนไทยเหล่านี้แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมของคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนาและวัฒนธรรม แต่ก็ยังรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่น โดยมีวัดซึ่งมีอยู่มากเป็นศูนย์รวมให้การศึกษาสอนภาษาไทย สอนให้รักชาติไทย ยึดมั่นศาสนาพุทธ เทิดทูลพระมหากษัตริย์ และสืบทอดวัฒนธรรม ตามบ้านจึงมีพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัว ติดธงไตรรงค์คู่กับธงมาเลเซีย และด้วยอัธยาศัยตามแบบฉบับของคนไทย ทำให้คนเชื้อสายไทยเข้ากับคนรอบด้านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนจีนที่ผูกพันกันด้วยศาสนา และคนอินเดียที่มีทั้งวัฒนธรรมและศาสนาใกล้เคียงกัน รวมทั้งคนเชื้อสายมลายูที่อยู่ร่วมสังคมกันมาหลายร้อยปี

ในปี ๒๕๐๐ ที่ตั้งประเทศเป็นสหพันธรัฐและมีคนอยู่หลายเชื้อชาติ มาเลเซียได้ออกกฎหมายให้คนเชื้อสายมลายูที่พูดภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลาม จัดอยู่ในกลุ่ม “ภูมิบุตรา” มีสิทธิเป็นพลเมืองเต็ม ๑๐๐ มีสิทธิซื้อขายเป็นเจ้าของที่ดินได้ ส่วนคนเชื้อชาติอื่นได้สิทธิ์เพียงเช่าที่ดิน ทั้งนี้ด้วยเกรงว่าคนจีนซึ่งมีกำลังซื้อสูงจะกวาดที่ดินไปเป็นกรรมสิทธิ์หมด

สาเหตุจากภูมิบุตรานี้ทำให้คนเชื้อสายจีนไม่พอใจ ก่อจลาจลขึ้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๒ และถูกชาวมลายูรุมสังหารไปเป็นจำนวนมาก ส่วนคนเชื้อสายไทยก็ประท้วงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยตั้งสมาคมสยาม-มาเลเซียขึ้น เพื่อปกป้องสิทธิของชาติพันธุ์ แต่เคลื่อนไหวในกรอบของความสงบและกฎหมาย ยื่นข้อเรียกร้องขอมีสิทธิเป็นภูมิบุตรา เพราะอยู่อาศัยในแผ่นดินนี้มากว่า ๕๐๐ ปีแล้ว ขอสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นที่สักการะของชาวพุทธทั่วโลก ขอให้รับรองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ ขอให้ประกาศวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ และขอให้วันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ ขอสิทธิในกองทุนช่วยเหลือทางการศึกษาและประกอบธุรกิจ รวมทั้งขอสิทธิในการเป็นสมาชิกพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ผูกขาดการปกครองประเทศ

แม้จะขอไปมาก รัฐบาลมาเลเซียก็ตอบมาด้วยความเห็นใจ แม้จะไม่ได้สถานภาพเป็นภูมิบุตรา แต่ก็ให้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินได้ รวมทั้งสิทธิ์ต่างๆในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ประกาศให้วัฒนธรรมการเล่นกลองยาว การฟ้อนรำไทย ประเพณีสงกรานต์ เป็นวัฒนธรรมของชาติ ให้สิทธิในกองทุนต่างๆเท่าเทียมกันทุกประการ ทั้งสงวนสิทธิตำแหน่งในสภานิติบัญญัติไว้สำหรับคนมาเลเซียเชื้อสายไทยไว้ ๑ ที่นั่ง และยังให้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ได้ในเมืองอิสลาม ซึ่งคนเชื้อสายไทยก็ได้สร้างขึ้นที่วัดมัชชิมารามในรัฐกลันตัน เป็นพระพุทธรูปประทับบนดอกบัว สูง ๓๐ เมตร กว้าง ๔๗ เมตร ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “พระพุทธบารมีธรรมจำรัสโลก” เป็นพระพุทธรูปใหญ่อันดับ ๒ ของโลกรองจากญี่ปุ่น ซึ่งองค์การท่องเที่ยวของมาเลเซียก็ประกาศให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง

สถานะคนเชื้อสายไทยที่อยู่ในมาเลเซียขณะนี้ แม้ยังถือว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีจำนวนไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ของประชากร ก็ถือได้ว่าเป็นพลเมืองชั้น ๒ มีสถานภาพสูงกว่าคนเชื้อสายจีนและอินเดียซึ่งมีมากกว่า นี่ก็เป็นเพราะ “ไทยนั้นรักสงบ” และอยู่ในกรอบของสังคม แม้จะเป็นสังคมที่แตกต่างกันด้วยเชื้อชาติศาสนา ก็ไม่สร้างปัญหาให้บ้านเมือง








กำลังโหลดความคิดเห็น