“ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้าง "คลองช่องนนทรี" เผย ส่วนตัวคิดว่าไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ 980 ล้านที่จะต้องเสีย ชี้การก่อสร้างหยาบ บางจุดอันตราย ตกแต่งเหมือนงานอีเวนต์
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. “ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Rachaporn Choochuey" ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคลองช่องนนทรี ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าไม่คุ้มกับงบประมาณ 980 ล้านที่จะต้องเสียไป ทั้งนี้ "ผศ. ดร.รชพร" ได้โพสต์ข้อความว่า
""นี่ราวกันตกทำด้วยเหล็กข้ออ้อยทาสีเนี่ยนะ เดี๋ยวก็ขึ้นสนิมมั้ย แล้วทำเป็นเส้นๆ แนวนอนนี่เด็กไม่ปีนได้เหรอ ตกลงไปในน้ำก็ตายนะ แถมยังเตี้ยไปมั้ยอะ แล้วเสาคือเหล็กกลวงน้ำมันไม่เข้าเหรอ นี่เงินเกือบพันล้านนะ" น้องผู้ชายอายุ 20 กว่า สามคนเดินดูทางยกระดับยึกยือเชื่อมสวนคลองช่องนนทรี ตรวจดูดีเทลกันอย่างกับเจ้าหน้าที่ตรวจรับงาน (ประทับใจความเห็นของน้องๆ มาก จริงๆ มีรูปน้องๆ ติดอยู่ในรูปที่ถ่ายด้วย แต่ไม่กล้าลง สุดมากครับ)
เมื่อวานไปแถวนั้นเลยเดินแวะไปดู สวน #คลองช่องนนทรี อันเป็น #จุดเช็กอินใหม่ ใจกลางกรุงฯ ตามที่ กทม.โฆษณาไว้ ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่คนวิจารณ์กัน เช่น น้ำเหม็นทะลุหน้ากาก วัสดุเชยกว่าสวนนงนุชรุ่นแรก (ชาวแลนด์ว่ามา) รายละเอียดการก่อสร้างหยาบและบางจุดถึงขั้นอันตราย การตกแต่งเหมือนงานอีเวนต์ เอามาวางตรงเกาะกลางถนนนี่ควันรถเยอะมาก (เอาจริงห้านาทีคือแสบตา) เพราะรถติดสนิททั้งสองฝั่ง ถ้าจะกันควันฝุ่นคงต้องใช้ทิวต้นไม้กว้างสักสิบเมตรกว่าสองข้าง (อ้าวกว้างกว่าถนนไปแล้ว) มองไปไกลๆ ส่วนต้นไม้เดิมที่ยังไม่ได้มีการทำอะไรดูจะกันฝุ่นได้มากกว่า แต่ที่ไม่จริง คือมันข้ามไปง่าย มาค่ะท่านผู้ชม ไม่ต้องกลัวรถชน เพราะรถติดมากตลอดเวลา ฮ่าๆๆ ส่วนเรื่องความเหมาะสมของโครงการมีคนเขียนไปเยอะแล้ว ไปหาอ่านกันได้ (สงสัยแค่ว่าไอ้ 980 ล้านนี่เป็นค่าอะไรบ้าง เพราะเท่าที่ดูด้วยตา ไม่น่าถึง เงินนี่ทำตึก 2-30,000 ตร.ม. แบบมี interior ได้เลยนะ อยากเห็น BOQ อะ)
เรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่มีคนพูดคือการใช้หญ้าเทียม ที่คือพลาสติก มันกู้โลกตรงไหนกัน ยังไม่นับว่าต้นไม้เล็กๆ ที่อยู่ได้ไม่กี่วันคงตายพร้อมรั้วต้นไม้พลาสติก (ดูรูปจ้า) อีกอย่างที่งงคือไม่มีการทำงานประสานกันในเรื่องงานวิศวกรรมโครงสร้างกับงานสถาปัตย์เลยเหรอ เพราะทางเดินลอยฟ้าขดไปมานั้นไม่ได้เข้าอะไรกับโครงสร้างเลย เหมือนออกแบบกันคนละโครงการ มีโครงสร้างประหลาดๆ ลอยยื่นออกน่ากลัวอยู่หลายจุด
เห็นมีคนออกมาแก้ต่างกันว่าดีกว่าไม่มี มันยังไม่เสร็จ บลาๆ จริงๆ งานออกแบบมันมีผิดมีพลาดได้ ยิ่งถ้ามองมันเป็น phase แรก เป็น prototyping ตาม design thinking ก็ยิ่งเป็นไปได้เช่นกัน เพียงแต่สงสัยว่าประเด็นในการทำ prototype นี้มันคืออะไร เพราะยังเห็นไม่ชัด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ใช้มันทำความเข้าใจและเรียนรู้อะไรไหม เพราะบางทีเมื่อเราทำ prototype แล้วมันใช้การไม่ได้ เราก็ไม่ทำต่อก็ได้เพราะได้เรียนรู้แล้วว่ามันไม่ดี กลัวแต่ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็จะทำต่อ เพราะมีงบประมาณมหาศาลรออยู่ อันนั้นก็คงเป็นอีกเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ