นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ตอบคำถามทางบ้าน ปม "วัคซีนเข็มสาม กับยอมติดเชื้อโอมิครอน อย่างไหนดีกว่ากัน" ชี้ข้อสังเกต 5 ประเด็น โอมิครอนแพร่ได้เร็วมาก เล็ดลอดภูมิคุ้มกันได้มาก ไม่มีวัคซีนไหนรับมือโอมิครอนได้ แต่การติดเชื้อจริงให้ภูมิคุ้มกันมากกว่าฉีดวัคซีนเข็มสาม 10 เท่า แต่ต้องถามใจรัฐบาลว่าจะเลือกใช้ยุทธศาสตร์ไหน หวังอาศัยเชื้อที่แพร่เร็วแต่อัตราตายต่ำ สร้างภูมิคุ้มกันแทนที่วัคซีน
วันนี้ (29 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เว็บไซต์ drsant.com ของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ได้ตอบคำถามจากทางบ้าน เกี่ยวกับการเปรียบเทียบระหว่างการเข้ารับวัคซีนเข็มที่สาม กับการยอมติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ระบุว่า
เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันฉีดไฟเซอร์ครบหกเดือนแล้ว ขอเรียนถามว่า ฉีดแอสตร้าฯ เป็นบูสเตอร์โดสจะดีหรือไม่ คืออยากฉีดไขว้น่ะค่ะ เห็นแต่ชวนเชื่อในทางกลับกันว่าแอสตร้าฯ ให้ตามด้วยไฟเซอร์จะดีมาก แต่ไฟเซอร์ตามด้วยแอสตร้าฯ หาข้อมูลไม่เจอ
ขอบคุณค่ะ
………………………………………………………………………
ตอบครับ
จดหมายแบบนี้มีเข้ามาเยอะมาก บ้างถามวัคซีนโน้นตามด้วยวัคซีนนี้แล้วจะตามด้วยวัคซีนนั้นดีไหม บ้างถามว่าต้องเข็มสามเข็มสี่ไหม ผมรวบตอบครั้งนี้คราวเดียวนะ และจะรวบคำถามให้เป็นคำถามเดียวแบบคลาสสิกว่า
“จะเลือกอะไรดี ระหว่างวัคซีนเข็มสามเข็มสี่ กับการติดเชื้อโอมิครอน”
นี่เป็นคำถามคลาสสิกที่รัฐบาลไทยต้องรีบตอบ ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็ต้องตอบด้วยวิธีเดาเพราะยังไม่มีการตีพิมพ์ผลวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอมิครอนออกมาแม้แต่ชิ้นเดียว มีแต่การให้ข่าว เมื่อข้อมูลยังไม่ครบก็ต้องเดา หากเดาผิดก็จะพาชาติบ้านเมืองเสียเงินฟรีๆ หลายหมื่นล้านบาทเลยเชียว
พูดถึงการเดา สมัยผมหนุ่มๆ จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยถูกครูจับไปทำวิจัย ครูสอนซึ่งเป็นชาวอิสราเอลได้ให้นักเรียนทุกคนทำข้อสอบวงกลมเลือกข้อถูกที่สุดข้อเดียว แต่ว่าเนื้อหาของข้อสอบนั้นเป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้ อ่านไม่ออกเลย จะว่าเป็นภาษาละตินก็ไม่ใช่ เพราะผมเรียนแพทย์ก็พอรู้ภาษาละตินอยู่บ้าง นักเรียนคนหนึ่งประท้วงว่าอ่านข้อสอบไม่ออกจะทำข้อสอบได้อย่างไร ครูบอกว่าทำได้สิ คนอื่นเขายังทำได้เลย เธอเห็นเพื่อนคนอื่นก้มหน้าวงเอาๆ จึงเงียบและก้มหน้าลงทำบ้าง ข้อสอบมีอยู่ 15 ข้อ ผมเดาถูก 14 ข้อ แพ้นักเรียนแพทย์รุ่นน้องคนหนึ่งเขาได้เต็ม 15 ข้อ เหน็ดขนาดจริงๆ ที่เล่าให้ฟังนี้ก็เพื่อให้เห็นคุณค่าของการเดาอย่างมีชั้นเชิง ไม่ใช่รอให้ข้อมูลออกมาครบก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ เหมือนที่หมอสาขาอื่นชอบค่อนแคะพยาธิแพทย์ (หมอผ่าศพ) ว่าคุณเก่งคุณรู้ว่าคนไข้เป็นอะไรก็จริง แต่กว่าคุณจะรู้คนไข้ก็ตายไปเรียบร้อยแล้ว หิ หิ
ก่อนจะตอบคำถามคลาสสิกนี้ มันต้องวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ก่อน
ประเด็นที่ 1. โอมิครอนแพร่ได้เร็วมาก อันนี้แน่นอนแล้ว ไม่ต้องเถียงกัน ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าโอมิครอนแพร่ได้เร็วกว่าเดลตาซึ่งเป็นแชมป์ในการแพร่เร็วอยู่แล้ว 1.6 เท่า ข้อมูลบางสำนักให้มากกว่านี้ ดร.ทิม สเปคเตอร์ แห่งองค์กร ZOE ซึ่งทำฐานข้อมูลดีที่สุดในโลกในเรื่องโควิดให้ข้อมูลว่า 69% ของคนติดเชื้อโควิดในอังกฤษตอนนี้เป็นโอมิครอน และประมาณการจากฐานข้อมูล ZOE ว่าทุก 2 คนที่เป็นหวัดในอังกฤษตอนนี้ 1 คนใน 2 คนนั้นเป็นผู้ติดเชื้อโอมิครอน คือมากเท่ากับหวัดหารสองเลยเชียว และอาการหลักของโอมิครอนคือ ปวดหัว เปลี้ย คัดจมูก เจ็บคอ จาม นั้นก็แยกไม่ออกจากอาการหวัด ในสหรัฐอเมริกาเองตอนนี้โอมิครอนก็เป็นสายพันธุ์แชมป์แล้ว ประมาณว่าสิ้นเดือน ม.ค.นี้จะแพร่ไปทั่วทุกหัวระแหงของอเมริกาเรียบร้อย
ประเด็นที่ 2. โอมิครอนเล็ดลอดภูมิคุ้มกันได้มาก หรือพูดแบบบ้านๆ ก็คือโอมิครอนดื้อวัคซีน ข้อมูลของ CDC พบว่าโอมิครอนไม่สนองตอบต่อวัคซีนได้สูงถึง 43% ข้อมูลจากการให้ข่าวทั้งที่แอฟริกาใต้เอง ที่อิสราเอล ที่เนเธอร์แลนด์ ล้วนบ่งชี้ว่าผู้ป่วยฉีดวัคซีนสามเข็มก็ยังติดเชื้อโอมิครอนนี้ได้ กลไกที่มันดื้อนี้ก็ทราบกันดีแล้ว ว่าวัคซีนที่นิยมกันทุกวันนี้นั้นออกแบบให้มุ่งทำลาย spike protein แต่ว่าเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้เปลี่ยนส่วน spike protein ของมันไปมากที่สุดจนไม่เหมือนวัคซีนเสียแล้ว
ประเด็นที่ 3. ไม่มีวัคซีนไหนในขณะนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ต่อโอมิครอนได้ เพราะวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อเชื้อแบบนี้ได้ต้องเป็นวัคซีนที่นอกจากจะถูกรับเข้าร่างกายแล้วออกฤทธิ์ (uptake) ได้เร็วมากแล้ว ยังต้องมีประสิทธิผลระดับ 100% ด้วย ซึ่ง ณ ขณะนี้ไม่มีวัคซีนแบบนั้น ดังนั้นอย่าไปฝันว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโอมิครอนด้วยวัคซีน มันเป็นไปไม่ได้ อ้าว ถ้าหากมันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโอมิครอนไม่ได้แล้วเราจะฉีดวัคซีนไปทำพรื้อล่ะครับ เพราะในแง่ที่จะให้คนติดโรคไม่ตายง่ายๆ นั้นเราก็ฉีดวัคซีนปูพรมครบสองเข็มกันหมดแล้ว วัตถุประสงค์นั้นบรรลุแล้ว ไม่ใช่ประเด็นแล้ว หิ หิ อันนี้เป็นคำถามตั้งค้างไว้ก่อน
ประเด็นที่ 4. ในแง่ประโยชน์ การติดเชื้อจริงให้ภูมิคุ้มกันโควิดมากกว่าฉีดวัคซีนเข็มสาม ในแง่ข้อมูลทางคลินิก งานวิจัยขนาดเล็กที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนเฮลท์ไซน์ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA พบว่าการติดเชื้อจริงหลังได้วัคซีน (breakthrough infection) ให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ (เข็มสาม) ถึง 10 เท่า
ในแง่ข้อมูลทางห้องแล็บ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งเป็นเซียนผู้ริเริ่มทางด้านการวิจัยแบบเอาชิ้นเนื้อมนุษย์มาทดลองในห้องแล็บ (ex vivo) ได้แถลงผลวิจัยใหม่ของตนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าพวกเขาได้ทำวิจัยแบบ ex vivo ตัดเอาเนื้อเยื่อปอดและหลอดลมของอาสาสมัครมาเพาะเลี้ยง แล้วใส่เชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งโอมิครอนเข้าไป แล้วก็สรุปการวิจัยว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเติบโตในเนื้อเยื่อแขนงหลอดลม (bronchus) ได้มากกว่าโควิดสายพันธุ์ออริจินัลถึง 70 เท่า แต่ว่าเติบโตในเนื้อเยื่อถุงลม (alveoli) ได้น้อยกว่าสายพันธุ์ออริจินัล 10 เท่า นี่เป็นเบาะแสทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่บอกกลไกว่าโอมิครอนติดต่อได้ง่ายพรวดพราดเพราะมันอยู่ตื้น แค่หายใจแรงๆ ก็ออกไปหาคนอื่นได้แล้ว แต่ขณะเดียวกันติดแล้วมันก็จะไม่รุนแรง เพราะความรุนแรงของโรคโควิดนั้นเรารู้มาสองปีแล้วว่าเกิดจากปฏิกิริยาตะลุมบอน (cytokine storm) ระหว่างเชื้อโรคกับภุมิคุัมกันของร่างกาย สมรภูมิคือในถุงลม (alveoli) ซึ่งเป็นส่วนลึกที่สุดของปอดที่เมื่อเชื้อไปถึงนั่นแล้วยากที่จะไล่ออกมาได้
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับวัคซีนตรงไหน ตอบว่ามันเกี่ยวตรงที่ว่าสงครามที่ทำกันในระดับหลอดลมนั้นเป็นการสู้รบกันในสมรภูมิเสมหะ ซึ่งต้องอาศัยโมเลกุลภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่วงการแพทย์เรียกว่า IgA ภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะเกิดขึ้นก็ด้วยการติดเชื้อธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากวัคซีน วัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันแบบ IgG และ IgM ซึ่งจะถนัดสมรภูมิในกระแสเลือดมากกว่า ไม่ได้เข้าไปตะลุมบอนในเสมหะ
ประเด็นที่ 5. ในแง่ความเสี่ยง วัคซีนเข็มสามกับการติดเชื้อโอมิครอนอะไรเสี่ยงกว่ากัน นี่เป็นคำถามสำคัญสุดยอด แต่การจะตอบต้องเดาเอาจากข้อมูลที่ได้จากการแถลงข่าว เพราะผลวิจัยยังไม่มี
ที่อังกฤษ รัฐบาลแถลงว่าตรวจพบโอมิครอนยืนยัน (ถึง 20 ธ.ค. 64) ชัวร์แน่นอนแล้ว 69,147 คน เข้า รพ. 195 คน ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคอื่น ทั้งหมดนี้ตายไป 18 คน อัตราตาย 0.02% ส่วนใหญ่เป็นการตายด้วยโรคอื่นที่นำไปสู่การรับไว้ในโรงพยาบาล ยังไม่สามารถแยกได้แม้แต่รายเดียวว่าตายจากโอมิครอนเพียวๆ
ที่แอฟริกาใต้ มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกวันละ 55,877 คน พบโควิดวันละ 15,424 คน (ได้ผลบวก 27.6%) ในจำนวนนี้ประมาณอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นโอมิครอน) ตายวันละ 35 คน เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่มีโรคนำที่เป็นสาเหตุให้เข้าโรงพยาบาล ยังไม่มีเคสยืนยันว่าตายจากโอมิครอนเพียวๆ เลยสักคน แต่ในภาพใหญ่สำหรับแอฟริกาใต้คือนับตั้งแต่มีโอมิครอนมาและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นพรวดพราด อัตราคนเข้าโรงพยาบาลและอัตราตายรวมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอนุมานได้ว่าโอมิครอนไม่มีประเด็นในเรื่องอัตราตาย
ที่ออสเตรเลีย ประเทศนี้ได้รับเชื้อโอมิครอนเข้าประเทศมาแล้ว 4 สัปดาห์ รอยเตอร์ให้ข้อมูลว่าหากนับแคว้นวิกตอเรียและนิวเซาท์เวลส์รวมกันสองแคว้นตอนนี้มีเคสโอมิครอนยืนยันในออสเตรเลียแล้ว 5,266 เคส ซึ่ง ดร.พอล แคลลี ประธานแพทย์ของรัฐบาล (CMO) ให้ข่าวชัดเจนแน่นอนว่าไม่ว่าการติดเชื้อจริงในชุมชนในประเทศออสเตรเลียจะมากแค่ไหน แต่นับถึงวันนี้ (21 ธ.ค. 64) อัตราตายและอัตราเข้าไอซียูยังเป็นศูนย์ คือยังไม่มีใครตายเลย
ดังนั้น ผมเดาเอาจากข้อมูลการแถลงข่าวทั้งหมดนี้ว่าอัตราตายของการติดเชื้อโอมิครอนต่ำจนใกล้ศูนย์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต่ำพอๆ กับการฉีดวัคซีนเข็มสามเข็มสี่ แต่ประสิทธิผลในแง่การสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดดีกว่า ผมจึงตอบคำถามคุณว่ารอติดเชืัอโอมิครอนน่าจะดีกว่าตะเกียกตะกายไปฉีดวัคซีนเข็มสามเข็มสี่กระมังครับ
คำตอบนี้ของผมกลายเป็นคำถามที่ท้าทายไปถึงรัฐบาลลุงตู่ด้วย ว่าเราจะเลือกใช้ยุทธศาสตร์ไหนในการรับมือกับโอมิครอน นั่นคือเราต้องตอบก่อนว่าจะฉีดเข็มสามเข็มสี่ดีหรือปล่อยให้ติดเชื้อโอมิครอนดี ในการรับมือกับโอมิครอนนี้ผมว่าการรอดูพี่ใหญ่ (สหรัฐอเมริกา) คือเฝ้าเว็บไซต์ของ CDC ว่าเขาทำอะไรแล้ววันรุ่งขึ้นก็เอามาทำของเราบ้าง ผมว่าวิธีนั้นมันไม่เวิร์กหรอกครับ เพราะพูดก็พูดเถอะ วิธีควบคุมโรคของพี่ใหญ่แต่ละจังหวะแต่ละก้าวนั้นหากพูดภาษาจิ๊กโก๋ก็ต้องใช้คำว่า … ตูละเบื่อ (หิ หิ ขอโทษ) ไทยเราต้องใช้ยุทธศาสตร์ของเรา เพราะผลงานในอดีตที่ผ่านมาของเราดีกว่าของพี่ใหญ่ตลอดมานะ อย่าลืม ท่านจะตัดสินใจใช้ยุทธศาสตร์ไหนมันเป็นดุลพินิจของท่าน แต่ในโอกาสนี้ผมขอเสนอยุทธศาสตร์ “ปล่อยมันไปก่อน” ภาษาแพทย์เขาเรียกว่า permissive strategy หมายความว่าในสถานการณ์ปกติสิ่งนี้เป็นสิ่งผิดปกติต้องแก้ไข แต่ในสถานการณ์นี้การปล่อยมันไปก่อนอาจจะกลับดีกว่า อุปมาอุปไมยประกอบการอธิบายศัพท์ให้ลุงตู่เข้าใจ สมัยผมเป็นหมอหนุ่มๆ ทำงานห้องฉุกเฉิน คนไข้บาดเจ็บหนักเลือดไหลโชกกว่าจะห้ามเลือดได้แทบตาย ความดันต่ำเตี้ยระดับพอไปได้เช่น 80/50 เลือดก็ยังไม่มี ห้องผ่าตัดก็ยังไม่พร้อม ในสถานการณ์ปกติความดันขนาดนี้ ผมต้องอัดน้ำเกลือให้ความดันขึ้น แต่ในสถานการณ์นี้หากผมทำอย่างนั้นความดันขึ้นมาอาจดันให้เลือดไหลโกรกออกมาอีกแล้วคนไข้อาจจะตายเพราะเลือดหมดตัว ผมก็จึงต้องเลือกใช้ permissive strategy คือปล่อยให้ความดันมันต่ำของมันไปก่อน จนกว่าซ้ายจะพร้อมขวาจะพร้อมจึงค่อยมาแตกหักกัน อย่างนี้เป็นต้น
Permissive strategy ในการรับมือโควิดโอมิครอนนี้คืออย่างไร ก็คือเฉยไว้ก่อนยังไม่ต้องตื่นเต้ล..ล ปล่อยให้การติดเชื้อมันกระจายออกไป แล้วตามดูอัตราการใช้เตียงไอซียูว่ามันยังหย่อนอยู่หรือมันเริ่มตึง ถ้ามันยังหย่อนอยู่ก็ปล่อยมันให้มากขึ้นอีก นี่เป็นยุทธศาสตร์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิดแบบเนียนๆ โดยอาศัยเชื้อที่แพร่เร็วแต่อัตราตายต่ำอย่างโอมิครอนมาทำหน้าที่แทนวัคซีน หากปล่อยไปสักพักแล้วเตียงมันตึง เราก็ค่อยมาปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าเตียงมันจะตึงขึ้นมาพรวดพราด เพราะหากเราอาศัยชั้นเชิงการเดาข้อสอบมาเดาเอาจากข้อมูลที่แพลมออกมาจากทั่วโลกนับถึงวันนี้ โอกาสที่มันจะตึงพรวดพราดนั้นเป็นไปได้น้อยมาก ภาษาหมอเขาเรียกว่า “very unlikely” ซึ่งข้อมูลแค่นี้ก็พอแล้ว คุณลุงเชื่อไหมครับ ที่พวกหมอเขาหากินรักษาโรคต่างๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เขาอาศัยการเดาแบบนี้ทั้งนั้นแหละ ไม่มีเสียหรอกที่ผลการตรวจวิเคราะห์จะชี้ชัดให้ตัดสินใจได้ง่ายๆ ว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ผลัวะๆๆๆ โถ ถ้าเป็นอย่างนั้นหมอถูกคอมพิวเตอร์แทนที่ไปนานแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1. (26 ธค. 64)
การไม่ฉีดวัคซีนเข็มสามจะไม่ทำให้ได้รับอันตรายจากการติดเชื้ออื่นๆ หรือครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วนานๆ
ตอบครับ
นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนโควิดเข็มสามจะลดอัตราตายจากโรคโควิดลงได้นะครับ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มสามยกเว้นในคนไข้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised) ที่วัคซีนสองเข็มแรกยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่มากพอ
ประเด็นที่ว่าเมื่อฉีดเข็มสองนานไปแล้วภูมิคุ้มกันอาจจะดรอปลงถึงขีดอันตรายนั้น หลักฐานที่มีนับถึงวันนี้ยังบ่งชี้ว่าวัคซีนสองเข็มยังคงลดอัตราป่วยรุนแรงและอัตราตายได้ดีอยู่นะครับแม้เวลาจะผ่านไปนานหลายเดือนแล้ว ยังไม่มีข้อมูลว่าฉีดเข็มสองนานไปแล้วจะป่วยและตายมากขึ้นเลย ดังนั้นหากถือตามหลักฐานวิทยาศาสตร์นับถึงวันนี้สำหรับคนทั่วไป (ที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิคุ้มก้นบกพร่อง) วัคซีนสองเข็มก็เพียงพอแล้วครับ เว้นเสียแต่จะมีหลักฐานอัตราตายใหม่ๆ ที่ผมไม่ทราบ ซึ่งถ้ามีและใครทราบก็ช่วยบอกผมเอาบุญด้วย
จดหมายจากผู้อ่าน 2.
อาจารย์ไม่ได้พูดถึงสถิติการตายของแอฟริกาใต้ให้ละเอียดเหมือนอังกฤษ อาจารย์มีตัวเลขไหมครับ เพราะที่แอฟริกาเรื่องเกิดก่อนจบก่อน อัตราตายของที่นั่นน่าจะมีความหมาย
ตอบครับ
มีครับ ข้อมูลพวกนี้ผมเอามาจาก data sheet ของจอห์น ฮอปกินส์และของรัฐบาลแอฟริกาเอง ผมสรุปให้โดยแบ่งเป็นสองช่วง และแยกให้เห็นเดลตากับโอมิครอน
ในแง่ของอัตรตายของเดลตา ข้อมูลช่วง 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 64 (ช่วงนั้นมีแต่เดลตา) มีผู้ป่วยเดลตาเกิดขึ้น 781,837 คน เข้า รพ. 96,623 คน (12.35%) ตาย 15,507 คน (1.98%) หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนธ.ค. 64 (ซึ่ง 92% เคสเป็นโอมิครอน) มีคนป่วย 406,210 คน ตาย 673 คน (0.16%) คือโอมิครอนมีอัตราตายต่ำกว่าเดลตา 77 เท่า
ในแง่ของการต้องรับเข้ารักษาใน รพ. ช่วง 1 ต.ค.-30 พ.ย. 64 มีผู้ป่วยเดลตาเกิดขึ้น 948 คน เข้า รพ. 121 คน (12.8%) ในขณะเดียวกัน มีผู้ป่วยโอมิครอนเกิดขึ้น 10,547 คน เข้า รพ. 261 คน (2.5%) จะเห็นว่าอัตราต้องเข้า รพ.ของโอมิครอนต่ำกว่าของเดลตา 6 เท่า
คลิกที่นี่ เพื่อดูเนื้อหาต้นฉบับ