ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาจากไบโอเทค ยกผลวิจัยจาก “University of Geneva” ชี้การใช้ ATK ตรวจหา “โอมิครอน” ยังสามารถตรวจเจอได้ แต่มีประสิทธิภาพต่างกัน นอกจากนี้ “โอมิครอน” ยังตรวจพบได้ยากกว่าสายพันธุ์อื่น
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ในประเด็นการใช้ ATK ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยได้ยกผลวิจัยจาก University of Geneva มาเป็นข้อสังเกต ทั้งนี้ “ดร.อนันต์” ได้ระบุข้อความว่า
“นักวิจัยจาก University of Geneva ทำการทดสอบประสิทธิภาพของ ATK 7 ยี่ห้อที่มีการใช้งานในสวิตเซอร์แลนด์ ในการตรวจจับไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ต่างๆก่อนหน้านี้ พบว่า ATK ทั้ง 7 ยี่ห้อสามารถตรวจโอมิครอนได้ แต่ด้วยประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่างกัน และเมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ โอมิครอนดูเหมือนว่าจะตรวจจับได้ยากกว่าครับ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นแบบนี้ใน ATK ทุกตัวที่ทดสอบในการศึกษานี้
กราฟผลการทดลองด้านล่างนี้ แกน Y คือ ปริมาณไวรัสที่เป็นจุดที่ไวรัสสามารถตรวจวัดได้ด้วย ATK กราฟยิ่งสูงแสดงว่า ATK ยิ่งตรวจไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ ได้ดี เช่น ATK ยี่ห้อ I สามารถตรวจเดลตาได้ต่ำสุดที่ 3.30 PFU/ml หรือไวรัสที่ 10^3.3 หรือ 2000 อนุภาค/ml แต่สามารถตรวจโอมิครอนได้ต่ำสุดที่ 3.5 PFU/ml หรือ 10^3.5 หรือประมาณ 3200 อนุภาค/ml ซึ่งจะเห็นว่าบางยี่ห้อถึงแม้จะสามารถตรวจโอมิครอนได้ แต่อาจต้องใช้ไวรัสปริมาณมากถึงจะได้ผลบวก เช่น ยี่ห้อที่ III และยี่ห้อที่ VI ต้องใช้ไวรัสมากถึง 10^4 หรือ 10000 อนุภาค/ml
ผมขออนุญาตไม่ระบุยี่ห้อ ATK ที่ทำการทดสอบในโพสต์นี้นะครับว่าคืออะไร แต่ข้อมูลสามารถหาได้เพิ่มเติมในเอกสารแนบ สำหรับพิจารณาการใช้ ATK ในการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ