นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” ระบุว่า ทีมวิจัยของญี่ปุ่นนำเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไปทดสอบความรุนแรงในหนูแฮมสเตอร์ โดยเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม และ สายพันธุ์เดลตา พบว่า หนูแฮมสเตอร์ติดเชื้อโควิด-19 จากสายพันธุ์เดิม และ สายพันธุ์เดลตา ได้ดี มีอาการเห็นชัดมากจากน้ำหนักตัวที่ลดลงหลังติดเชื้อ ส่วนหนูที่ติดสายพันธุ์โอมิครอนน้ำหนักแทบไม่ลดลงเมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับเชื้อ ส่วนระดับออกซิเจนก็ไปในแนวเดียวกัน และเมื่อนำปอดของหนูแฮมสเตอร์ในแต่ละกลุ่มมาตรวจพบว่าสายพันธุ์โอมิครอนติดปอดไม่ดีเท่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์เดลตา แต่คำอธิบายดังกล่าว ยังใช้อธิบายไม่ได้ว่า ถ้าเข้าสู่เซลล์ได้ยาก เหตุใดสายพันธุ์โอมิครอนถึงเพิ่มจำนวนได้ไวกว่าในเซลล์หลอดลมมนุษย์ถึง 70 เท่า และแพร่กระจายได้ไวมาก