xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเผยวิธีตรวจสอบหมอจริง-หมอปลอม เช็กทางเว็บไซต์ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรรมการแพทยสภาเผยวิธีตรวจสอบแพทย์จริงหรือแพทย์ปลอมผ่านเว็บไซต์แพทยสภา พร้อมระบุว่าการแอบอ้างเป็นแพทย์มีความผิดตามกฎหมาย แอบอ้างกระทงหนึ่ง ถ้ารักษาด้วยอีกกระทงหนึ่ง

วันนี้ (17 ธ.ค.) นายแพทย์ ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และกรรมการแพทยสภา ระบุว่า การตรวจสอบว่าแพทย์จริงหรือแพทย์ปลอมนั้น การทำเอกสารปลอมเป็นแพทย์ถือเป็นการปลอมแปลงเอกสาร และการแอบอ้างเป็นแพทย์มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525

โดยคนที่ปลอมเป็นแพทย์และมีการรักษาผิดในมาตรา 26 ถ้าไปใช้คำว่านายแพทย์หรือแพทย์หญิงจะผิดตามมาตรา 27 ถ้าใช้ทั้งนายแพทย์และแพทย์หญิง รวมทั้งมีการรักษาด้วยจะผิดทั้ง 2 มาตรา ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา โดยที่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดี และเมื่อพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดี สามารถให้แพทยสภาเป็นพยานได้

ส่วนถ้าเป็นแพทย์จบใหม่ เรียนจบ 6 ปี จะมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของแพทยสภาและตรวจสอบได้หรือไม่นั้น ระบุว่า หลังจากที่แพทย์จบ 6 ปีจากคณะแพทย์แล้ว ร่วมกับการสอบของศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ศรว.) รายชื่อจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เมื่ออนุมัติแล้วรายชื่อจะเข้าสู่ระบบได้

ส่วนการตรวจสอบแพทย์จริง หรือแพทย์ปลอม ว่าคนที่ไปปรึกษาเป็นแพทย์จริงหรือไม่นั้น ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ https://ckeckmd.tmc.or.th ทั้งนี้ สำหรับการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์แพทยสภาจะทำให้ทราบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบได้ว่าแพทย์คนดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญในสาขาใดที่แพทยสภารับรองด้วยจริงหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น