กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดการแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียน 'โนรา' เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การยูเนสโกในบ่ายวันนี้
วันนี้ (16 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน 'โนรา' หรือ 'มโนราห์'ศิลปะการแสดงพื้นบ้านในภาคใต้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นับเป็นศิลปะการแสดงของไทยลำดับที่ 3 ต่อจากโขน เมื่อปี 2561 และนวดไทยเมื่อปี 2562 ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ธ.ค. เวลา 13.00 น. และถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก "กรมส่งเสริมวัฒนธรรม"
เว็บไซต์ขององค์การยูเนสโก ระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า สำหรับโนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีการรำและการขับร้องจากภาคใต้ของไทย โดยการแสดงประกอบด้วยการตั้งเครื่อง หรือการประโคมดนตรีเพื่อขอที่ขอทาง เมื่อเข้าโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว ตามมาด้วยการโหมโรง กาศครู หรือเชิญครู ซึ่งเป็นการขับร้องบทไหว้ครู และการปล่อยตัวนางรำออกรำโดยการเคลื่อนไหวของขา แขน และนิ้วที่กระฉับกระเฉงและประณีต การแสดงมักจะมาจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระชนมชีพในอดีตของพระพุทธเจ้า หรือเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนาน ประกอบกับดนตรีที่ใช้กลองหุ้มหนังหน้าเดียว ซึ่งเรียกว่า ทับ ที่ให้ทำนองและจังหวะที่หนักแน่น ร่วมกับปี่ กลอง โหม่ง ฉิ่ง แตระ
นักแสดงหลักของโนรา ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะสวมชุดหลากสีพร้อมกับเครื่องประดับศีรษะที่เรียกว่า เทริด, ผ้าโพกศีรษะ, เครื่องลูกปัด, ผ้าห้อยข้าง, ปีกนกแอ่นหรือปีกเหน่ง, ทับทรวงปีกหรือหางหงส์ และยังสวมเล็บยาวที่ม้วนงอออกจากปลายนิ้ว โนราเป็นขนบประเพณีของชุมชนที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างลึกซึ้งสำหรับภาคใต้ของไทย การแสดงใช้ภาษาถิ่น ดนตรี และวรรณคดี เพื่อเสริมสร้างชีวิตทางวัฒนธรรมและความผูกพันทางสังคมในหมู่คนท้องถิ่น มีอายุมากกว่า 500 ปี โดยการแสดงโนราเกิดขึ้นในศูนย์ชุมชนท้องถิ่น วัด กิจกรรมทางวัฒนธรรม และถ่ายทอดผ่านการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญในบ้าน องค์กรชุมชน และสถาบันการศึกษา
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก "กรมส่งเสริมวัฒนธรรม" ระบุว่า โนราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่คนใต้ให้ความนิยม องค์ประกอบหลักในการแสดงโนรา คือ เครื่องแต่งกายและเครื่องดนตรี ปัจจุบันการแสดงโนรามีทั้งเพื่อความบันเทิงและการรำในพิธีกรรม คุณค่าของโนรานอกจากเครื่องแต่งกายและท่ารำที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแล้ว โนรายังทำหน้าที่เป็นสื่อเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และเข้าถึงชาวบ้านได้ง่าย จึงเป็นศิลปะการแสดงของชาวภาคใต้ที่ยังคงครองความนิยมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันได้ดี ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2552