xs
xsm
sm
md
lg

ใบวัคซีนปลอมระบาด รับมือง่ายๆ แค่สแกนมุมขวาบน หรือใช้แอปฯ หมอพร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยขั้นตอนการตรวจสอบ "เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย" สำหรับสถานประกอบการที่เข้มงวดวัคซีน 2 เข็ม แค่สแกนผ่านคิวอาร์โค้ดมุมขวาของเอกสาร หรือใช้แอปพลิเคชัน-ไลน์ "หมอพร้อม" ชัวร์กว่า รับมือใบฉีดวัคซีนปลอมระบาด พวกไม่ได้ฉีดแต่อยากได้ใบเบิกทาง

วันนี้ (15 ธ.ค.) จากกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพประกาศรับทำ "เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย" หรือ ใบฉีดวัคซีน โดยอ้างว่า "ไม่ต้องฉีดให้เสียเวลาทำงาน บางคนฉีดมาไม่สบายเป็นเดือน บางคนมีโรคประจำตัว ฉีดมาเสียชีวิตก็มี บางคนไม่อยากฉีด แต่แค่อยากได้ใบเบิกทางเท่านั้น เชิญมาทางนี้ค่ะ ไม่ต้องฉีด เราทำใบฉีดให้ค่ะ ของแท้ 100%" พร้อมบอกช่องทางการติดต่อที่อินบอกซ์หรือแอดไลน์ เรื่องนี้กลายเป็นที่วิจารณ์จำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันสถานประกอบการบางแห่งต้องการหลักฐานการได้รับวัคซีนครบโดสตามที่กำหนด เพื่อประกอบกิจการหรือกิจกรรมต่างๆ

ขณะที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมสอบถามไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวที่มีการรับทำทางออนไลน์เป็นเอกสารปลอม โดยเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจริงจะต้องออกโดยสถานที่ฉีดเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจึงไม่สามารถได้รับเอกสารดังกล่าวได้แต่อย่างใด และขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อเพราะการปลอมเอกสารราชการมีความผิดทางกฎหมาย ต้องระวางโทษทั้งจำ และปรับ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปลอมแปลง "เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย" แต่สำหรับสถานประกอบการที่ต้องการความเข้มงวด กำหนดให้ผู้มารับบริการหรือร่วมกิจกรรมต้องได้รับวัคซีนครบโดส (2 เข็ม) และต้องการรับมือกับการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว เมื่อศึกษาแนวทางรับมือเพื่อป้องกันใบวัคซีนปลอม พบว่ามีดังนี้

1. เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยแบบกระดาษ จะมีคิวอาร์โค้ดบริเวณหัวมุมเอกสาร หากสถานประกอบการรายใดต้องการตรวจสอบ ให้ทำการสแกนคิวอาร์โค้ด ผ่านแอปพลิเคชัน LINE หรือผ่านกล้องถ่ายรูป ที่มีโหมดอ่านคิวอาร์โค้ด ระบบจะแสดงลิงก์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้กดเข้าไป จะพบ "หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนและผลการตรวจโควิด-19 พร้อมโลโก้กระทรวงสาธารณสุข หากชื่อ-สกุล และ Citizen ID (เลขที่บัตรประชาชน) ตรงกับเอกสาร และในช่องการรับวัคซีนโควิด-19 ระบุว่า "รับวัคซีนแล้ว" จะถือว่าเป็นเอกสารจริงและผ่านเกณฑ์


2. ข้อมูลในแพลตฟอร์ม "หมอพร้อม" บนโทรศัพท์มือถือจะมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากกว่า สถานประกอบการควรแนะนำให้ผู้มารับบริการหรือร่วมกิจกรรม เปิดแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ต่อหน้า โดยเข้าไปที่เมนู "ประวัติการรับวัคซีน" ซึ่งจะสามารถดูได้ว่ารับวัคซีนไปแล้วกี่เข็ม หรือเข้าไปที่เมนู "Vaccine Covid-19 Certificate" เพื่อดูเอกสาร "เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย" แบบไฟล์ภาพ หรือเข้าไปที่เมนู "Digital Health Pass" หากในช่องการรับวัคซีนโควิด-19 ระบุว่า "รับวัคซีนแล้ว (Vaccinated)" จะถือว่าผ่านเกณฑ์

หากไม่มีแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" แต่แอดไลน์ "หมอพร้อม" เอาไว้ สามารถเลือกดูได้ที่เมนู "Digital Health Pass" ซึ่งจะปรากฏเอกสารรับรองสุขภาพดิจิทัล (Thailand Digital Health Pass) หากในช่องการรับวัคซีนโควิด-19 ระบุว่า "รับวัคซีนแล้ว (Vaccinated)" จะถือว่าผ่านเกณฑ์เช่นกัน หรือเข้าไปที่เมนู "วัคซีนและผลตรวจโควิด-19" เลือก "ใบรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19" ก็จะแสดง "เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย" เช่นกัน


3. สถานประกอบการที่ต้องการเข้มงวด เรื่องหลักฐานการฉีดวัคซีน ควรกำหนดให้ผู้มารับบริการหรือร่วมกิจกรรม ไม่สามารถใช้ภาพถ่าย "เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย" หรือรูปถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์ (Capture) หรือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งกระทำโดยผู้มารับบริการหรือร่วมกิจกรรม และแนะนำให้แสดงหลักฐานผ่านแพลตฟอร์มหมอพร้อม ได้แก่ ไลน์ "หมอพร้อม" หรือแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหลักฐาน

ลักษณะเช่นนี้จะเป็นแบบเดียวกับการกดรับสิทธิประโยชน์ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ตามร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ไม่สามารถแคปเจอร์ (Capture) หน้าจอโทรศัพท์เพื่อรับสิทธิ์ได้ หรือการแสดงตนก่อนขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ภาพถ่ายบัตรโดยสาร (Boarding Pass) หรือภาพถ่ายบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Boarding Pass) รวมถึงรูปถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์ (Capture) หรือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดซึ่งกระทำโดยผู้โดยสารเพื่อใช้แสดงตนก่อนขึ้นเครื่องบินได้

การขอความร่วมมือแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน พนักงานของสถานประกอบการควรกระทำอย่างสุภาพ เพื่อลดการกระทบกระทั่งที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงอดทนอดกลั้นเมื่อผู้มารับบริการหรือร่วมกิจกรรมแสดงความไม่พอใจ

อนึ่ง สำหรับการปลอมแปลงเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย แบบกระดาษ มีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากปลอมในรูปแบบไฟล์บนโทรศัพท์มือถือ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


กำลังโหลดความคิดเห็น