โซเชียลฯ แห่แชร์ หลังพบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครได้ปรับปรุงโฉมใหม่ แต่กลับพบข้อความในแผ่นป้ายนิทรรศการ ซึ่งมีคำแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษที่พบว่าไม่สอดคล้อง คล้ายเป็นข้อความร่าง บางรายตั้งคำถามกรมศิลปากรว่าปล่อยผลงานเช่นนี้ให้จัดแสดงได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า "คุณ Bore Please รักจองแฮอิน" ซึ่งเล่าเรื่องราวการเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ แต่กลับพบข้อความในแผ่นป้ายนิทรรศการ ซึ่งมีคำแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษที่พบว่าไม่สอดคล้องกัน เช่น สมัยหินใหม่ รวมถึงสมัยอื่นๆ ถัดมาทั้งหมด ได้มีการแปลข้อความว่า eng eng คล้ายเป็นข้อความร่าง และเรื่องราวดังกล่าวถูกรีทวีตหลายพันครั้ง
ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก "คิดอย่าง" ซึ่งเป็นเพจดังด้านสังคมศาสตร์ ได้มีการนำเรื่องราวดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อ โดยมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์เป็นจำนวนมากถึงการทำงานของบริษัทรับเหมาจัดทำนิทรรศการ รวมถึงตั้งคำถามต่อการตรวจรับงานของกรมศิลปากรว่าปล่อยผลงานเช่นนี้ให้จัดแสดงได้อย่างไร โดยในส่วนของชื่อแหล่งโบราณคดีต่างๆ มีการใช้ข้อความที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าคือค่าเริ่มต้นของการใช้ฟอนต์นั้นๆ และมีชาวเน็ตบางรายระบุว่า นิทรรศการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ได้มีการตรวจรับงานแต่อย่างใด ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่าหากยังไม่สมบูรณ์ เหตุใดจึงเปิดให้เข้าชม เพราะอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดได้
ไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครมา เอาจริงประทับใจหลายๆ ห้องจัดแสดงโฉมใหม่มาก แต่ที่รู้สึกได้คือหลายๆ ห้องน่าจะคนละผู้รับเหมา ห้องอยุธยาดูลวกๆ หรืออันนี้น่าตีมาก เหย มันคือสิ่งที่ฝรั่งจะได้เห็นนะเว้ย แล้วคือ Lorem ipsum ว่ะ eng eng ว่ะ สาบานว่าตอนตรวจรับไม่เห็นตรงนี้ แย่มากนะ pic.twitter.com/V0mHS2gHss— คุณ Bore Please รักจองแฮอิน (@hlblb) December 12, 2021