ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ออกมาแสดงความคิดเห็นหาก “โอไมครอน” ระบาดง่ายกว่า “เดลตา” ก็จะมาแทนที่ แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่าซึ่งเป็นข่าวดี ฉะนั้นในอนาคตความต้องการวัคซีนก็อาจจะน้อยลงตาม อาจถึงเวลาตลาดวัคซีนจะได้อยู่ในมือของผู้ซื้อเสียที
วันนี้ (8 ธ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” ในประเด็นความรุนแรงของโรคโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ “โอไมครอน” โดยหมอยงเผยว่า ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา
“ในอดีตที่ผ่านมาเห็นได้ชัด เมื่อมีสายพันธุ์หนึ่งแพร่กระจายได้เร็วกว่าก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม เราเห็นได้ตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลตา ขณะนี้สายพันธุ์เดลตาทั่วโลกพบถึง 99 เปอร์เซ็นต์
บทเรียนดังกล่าวเห็นได้ชัดจากไข้หวัดใหญ่ ก่อนที่จะมีไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ระบาด เรามีไข้หวัดใหญ่ H1N1 ตามฤดูกาลอยู่แล้ว คนละสายพันธุ์กันเลย หลังจากการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ไข้หวัดใหญ่ H1N1 สายพันธุ์เดิมที่ระบาดก่อนหน้านั้นก็ถูกแทนที่โดยไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 และไม่พบตัวเดิมอีกเลยจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นไปไม่ได้ที่สายพันธุ์ H1N1 จะไปแทนที่ H3N2 หรือ Flu B เพราะเป็นคนละตัวกัน เช่นเดียวกัน เชื้อ covid-19 ก็ไม่สามารถไปแทนที่ไวรัสโคโรนาที่เกิดโรคในเด็ก เช่น OC43 229E เพราะเป็นคนละตัวกัน
ทำนองเดียวกัน โอไมครอน ถ้าระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม ก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ในอดีต เราพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นจากไวรัส เราก็ใช้ไวรัสก่อโรคให้มีการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกในเซลล์ทดลอง หรือสัตว์ทดลอง เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำนานๆ ไวรัสตัวนั้นก็จะอ่อนฤทธิ์ลง แล้วเอามาทำวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เพราะการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกไวรัสเองก็พยายามปรับตัว ลดการทำร้ายเจ้าถิ่น หรืออ่อนฤทธิ์นั่นเอง
ขณะนี้จากการพบผู้ป่วยทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดี จะเห็นว่าการพบนอกทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ อีกเกือบครึ่งหนึ่งมีอาการน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตา และก็เช่นเดียวกัน ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนก็มีแนวโน้มที่จะรับไว้ในโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธุ์เดิมเดลตา ถ้าทั้งหมดนี้เป็นความจริง (ที่ต้องรอพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง) ก็นับว่าเป็นข่าวดี เราก็อยากให้เป็นเช่นนั้น
ถ้าโรคไม่มีความรุนแรง และมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อก็เหมือนเป็นการสร้างภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ ถึงเวลานั้นความจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนก็จะลดลง วัคซีนจะใช้ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นแล้วรุนแรง ตลาดวัคซีนจะได้อยู่ในมือของผู้ซื้อเสียที”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ