xs
xsm
sm
md
lg

“เสือดำ”ไม่ตายฟรี! 8 ธ.ค.ศาลนัดปิดคดี มูลนิธิสืบฯ รอต่อยอด “งานอนุรักษ์”ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
8 ธ.ค.นี้ นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปิดฉาก “คดีเสือดำ” คดีดังแห่งทศวรรษ “เปรมชัย-พวก” จะรอดคุกหรือไม่ หลังศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก-ไม่รออาญา “เลขาฯมูลนิธิสืบฯ” รับคาดการณ์คำตัดสินยาก มั่นใจ “เสือดำ” ไม่ตายฟรี อย่างน้อยก็ปลุกกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติจนกระหึ่ม สังคมติดตามจนคนทำผิดถูกลงโทษ หวังนำผลแห่งคดีต่อยอดพัฒนางานอนุรักษ์ฯให้ยั่งยืน


ใกล้ถึงบทสรุปแล้วสำหรับคดีดัง “คดีเสือดำ” หรือคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกรวม 4 คน ในข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ. 2561

ภายหลังต่อสู้ในชั้นศาลมานานกว่า 3 ปี ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา "คดีเสือดำ" ในวันที่ 8 ธ.ค.64 เวลา 09.00 น.

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเมื่อวันที่ 19 มี.ค.62 ให้จำคุก นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 16 เดือน ใน 3 ข้อหา คือ 1.ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต พิพากษา จำคุก 6 เดือน, 2.ข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน และ 3.ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน โดยหลุดข้อหาครอบครองซากเสือดำ

ขณะที่จำเลยที่ 2-4 ได้ถูกลงโทษข้อหาครอบครองซากเสือดำด้วย ได้แก่ จำเลยที่ 2 นายยงค์ โดดเครือ คนขับรถ ถูกลงโทษจำคุก 13 เดือน, จำเลยที่ 3 นางนที เรียมแสน แม่ครัว จำคุก 4 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอรอลงอาญา มีกำหนด 2 ปี และ จำเลยที่ 4 นายธานี ทุมมาศ นายพราน รวมโทษจำคุก 2 ปี 17 เดือน

นอกจากนี้ ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 2 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 ก.พ.2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ก่อนที่เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.62 ศาลจังหวัดทองผาภูมิได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพิ่มโทษนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 เป็นจำคุก 2 ปี 14 เดือนไม่รอลงอาญา, เพิ่มโทษ นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 2 ปี 17 เดือน, เพิ่มโทษ นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 เป็นจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิ่มโทษ นายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 เป็นจำคุก 2 ปี 21 เดือน และให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชำระค่าเสียหาย 2 ล้านบาทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

กระทั่งวันที่ 1 เม.ย.63 นายเปรมและจำเลยอีก 2 รายคือ นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 และ นายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 ได้ยื่นขอฎีกาคดี ขณะที่ นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 ได้ข้อยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดตั้งแต่เกิดเหตุ ก็ได้รับการเปิดเผยว่า มูลนิธิสืบฯในฐานะองค์กรด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า และทำงานอยู่ในพื้นที่ผืนป่าภาคตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่ห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งด้านตะวันตก และตะวันออก ที่เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก ให้ความสำคัญกับคดีนี้เป็นอย่างมาก และได้มีการทำงานร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งด้านตะวันตกมาโดยตลอด

ในเรื่องของการติดตามคดี และร่วมกันวิเคราะห์หาแนวทางในการดำเนินการขั้นตอนทางคดี รวมไปถึงด้านการอนุรักษ์ในพื้นที่ภายหลังจากมีคดีนี้เกิดขึ้น ส่วนการคาดการณ์คำพิพากษาในชั้นศาลฎีกานั้นถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะในการฎีกาครั้งนี้ทางมูลนิธิสืบฯไม่ทราบถึงข้อมูลของทั้งฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลย
“ทางมูลนิธิสืบฯให้ความสำคัญ และพยายามที่จะติดตามข้อมูลความคืบหน้า แต่ก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลในชั้นฎีกาของทางฝ่ายจำเลย คือ คุณเปรมชัยและพวก รวมถึงทางพนักงานอัยการ ผู้เป็นโจทก์ในการฟ้อง จึงเป็นเรื่องยากในวิเคราะห์ว่า แนวทางของคำตัดสินจะเป็นไปในทิศทางใด”

ส่วนข้อกังวลว่าเสือดำจะตายฟรีหรือไม่นั้น เลขาธิการมูลนิธิสืบฯก็แสดงความเชื่อมั่นว่า เสือดำไม่ตายฟรีแน่นอน เนื่องจากหากติดตามกระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย คำพิพากษาตั้งแต่ศาลชั้นต้น มาจนถึงศาลอุทธรณ์ ที่ตัดสินให้ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นศาลอุทธรณ์ที่มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้เพิ่มโทษจำคุกจำเลยทุกราย ขณะเดียวกันในเชิงสังคม และในเชิงสาธารณชน ต้องยอมรับกระแสเรื่องของนายเปรมชัย ที่เรียกกันว่า “คดีเสือดำ” เป็นเหตุที่ทำให้สังคมเกิดความตระหนักและความตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น สาธารชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สนับสนุน และร่วมกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้รับกำลังใจ และได้รับกสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่

“ผมเชื่อว่าทุกๆคนยังให้ความสำคัญ และติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังให้ความสำคัญต่อเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ยังมีการตื่นตัวกับเรื่องนี้อยู่ เมื่อมีเหตุการณ์ขึ้นมา ก็จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้ทุกฝ่ายทำงานด้วยความรอบคอบในเรื่องของการดำเนินการทางกฎหมายมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้น”

เลขาธิการมูลนิธิสืบฯมองว่า นอกจากหลักฐานทางคดีที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆร่วมกันรวบรวมมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี ทำให้ศาลได้มีคำตัดสินจำคุกผู้กระทำความผิดออกมาแล้ว อีกส่วนที่มีความสำคัญคือ พฤติการณ์ของผู้กระทำผิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าไปเพื่อเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ ซึ่งคณะทำงานที่ต่อสู้ทางคดีก็ต้องพยายามชี้ให้เห็นว่า พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ทำผิดนั้นเป็นความพยายามไปล่าสัตว์ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี เลขาธิการมูลนิธิสืบฯเปิดเผยว่า แม้จะมีคดีของนายเปรมชัยที่ตกเป็นข่าวโด่งดังและผู้มกระทำผิดถูกตัดสินลงโทษแล้วก็ตาม ก็ยังมีกรณีอื่นๆเกิดขึ้นอีกมาก ทั้งการล่านกเงือกในอุทยานแห่งชาติไทรโยค หรือในพื้นที่อื่นๆ แสดงให้เห็นว่า ก็ยังมีคนบางส่วนที่ยังสนุกกับเรื่องของการเข้าป่า และไปกระทำผิดกฎหมาย และโดนจับกุมดำเนินคดี ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นคนที่มีชื่อเสียงและฐานะในสังคมด้วย แง่หนึ่งก็เป็นกระแสลบ มีคำถามว่าผู้ที่ทำหน้าที่ยังเฝ้าระวังดูแลพื้นที่ไม่ดีพอ จึงเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาทบทวนในส่วนของการขับเคลื่อนเรื่องของงานอนุรักษ์ต่อไป

“เรื่องของการล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์คุ้มครอง และอยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ป่าทุ่งใหญ่ฯ หรือป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านของสัตว์ป่าอย่างแท้จริง เป็นพื้นที่ทีเราต้องสงวนไว้ให้สัตว์ป่า หรือระบบนิเวศน์ให้อยู่อย่างปกติสุข โดยเข้าไปรบกวนให้น้อยที่สุด”

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ยอมรับอีกว่า ทิศทางของผลคดีเสือดำไม่ว่าจะออกมาทางใดย่อมมีผลต่องานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแน่นอน โดยระบุว่า อย่างที่เรียนว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ต้องยอมรับว่า เสือดำกลายมาเป็นตัวแทนของทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในผืนป่า ทำให้สังคมตื่นตัวและติดตามเรื่องเหล่านี้ ทำให้เกิดกระแสความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ตื่นตัวในสังคมอย่างมาก รวมไปถึงในเชิงสังคมยังมีการมองในมิติของความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมหรือไม่ เพราะผู้กระทำผิดมักจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและฐานะในสังคม อย่างไรก็ตามในเชิงกฎหมายของคดีเสือดำนั้น อย่างน้อยในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามีการลงโทษผู้กระผิดทำแม้ว่าจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงและมีฐานะ

ในสังคม ตรงนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ร่วมกันในสังคมว่า หากมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบ รวมไปถึงติดตามเฝ้าระวังงานอนุรักษ์ธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจะใช้กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมได้เรียนรู้ เกิดความตระหนักมีส่วนร่วมต่องานอนุรักษ์ ให้ต่อเนื่องและมีความยั่งยืนต่อไป

“ต้องย้ำว่าเราไม่อยากให้เกิดการกระทำผิดต่อสัตว์ป่า หรือต่อทรัพยากรธรรมชาติใดๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องใช้เป็นบทเรียน ใช้เป็นเครื่องมือ ในการทบทวน ในการร่วมกันพัฒนาการทำงาน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างยั่งยืนให้ได้ หลังสิ้นสุดคดีเสือดำแล้ว มูลนิธิสืบฯก็จะนำผลมาพิจารณาว่า จะรณรงค์ให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรต่อไป”

วันที่ 8 ธ.ค.64 นี้ ผลแห่ง “คดีเสือดำ”​ คดีดังแห่งทศวรรษจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม.


กำลังโหลดความคิดเห็น