xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์เผยข่าวดี ศูนย์วิจัยอ่าวไทยตอนกลางพบโลมาสีชมพูมีจำนวนเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ธรณ์เผยข่าวดีให้คนรักทะเล หลังศูนย์วิจัยอ่าวไทยตอนกลางพบโลมาสีชมพูมีจำนวนเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2558 แนะเพื่อนธรณ์ที่อยากไปเที่ยวทะเลดูโลมา จุดเด็ดคือท่าเรือ 3 แห่ง และอ่าวเตล็ด

วันนี้ (5 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "181 ตัวเลขนี้ไม่ใช่การใบ้ใดๆ แต่เป็นจำนวนโลมาหลังโหนก (โลมาสีชมพู) ที่กรมทะเลสำรวจล่าสุดในบริเวณดอนสัก/ขนอม เป็นผลลัพธ์ที่ต้องยิ้มๆ เพราะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับจำนวนที่พบในปี 2558 (151 ตัว) งานนี้ทำโดยคุณจักรพงษ์ และคณะ เป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยอ่าวไทยตอนกลาง เพิ่งนำเสนอในการประชุม Ocean Science Decade เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเข้าไปคุยกับน้องๆ เพราะครั้งหนึ่งเคยทำงานเรื่องโลมาหลังโหนกในบริเวณนี้เมื่อ 10+ ปีก่อน และงานใหม่นี้ก็อ้างอิงย้อนกลับไปถึงงานในตอนนั้น สมัยผมเจอหลายสิบตัวก็คิดว่าเยอะแล้ว ต่อมามีงานของคุณอภิชาติ ทำครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่าในปี 58 ได้มา 151 ตัว

จนล่าสุด 181 ตัว พื้นที่เดียวกัน ดอนสัก/ขนอม/หมู่เกาะอ่างทองตอนล่าง เยี่ยมมากครับ ที่สำคัญ สัดส่วนของโลมานับว่าน่าตะลึง เพราะมีวัยเด็กถึง 49 ตัว (35.5%) วัยรุ่น 33 ตัว (23.9%) เรียกว่ามากกว่าครึ่งเป็นโลมารุ่นใหม่ที่กำลังจะโตมาเป็นพ่อแม่ (โลมาสาวเริ่มเมื่อ 9-10 ปี หนุ่ม 11-13 ปี อายุยืนกว่า 40 ปี) แน่นอนว่าโลมามีเกิดมีตาย แต่ดูจากประชากรที่เพิ่มขึ้น 20% ใน 5-6 ปี และสัดส่วนของอายุโลมา บอกได้ว่าหลังโหนกที่ดอนสัก/ขนอม ยังอยู่ดีมีสุข ออกลูกหลานเยอะ และการทำประมงพื้นบ้านในบริเวณนั้นยังไม่ส่งผลกระทบในภาพรวม

สำหรับเพื่อนธรณ์ที่อยากไปเที่ยวทะเลดูโลมา บอกได้ว่าพวกเธอส่วนใหญ่อยู่ห่างฝั่งไม่เกิน 1,000 เมตร น้ำลึกไม่เกิน 3-4 เมตร คิดเป็นร้อยละ 90 ของที่เจอทั้งหมด จุดเด็ดคือท่าเรือ 3 แห่งและอ่าวเตล็ด ผมไปลงเรือเฟอร์รีเจอโลมาแทบทุกครั้ง นับว่ารับแขกดีมาก แถวนี้ยังมีโลมาอิรวดี 1 ฝูง 10-20 ตัว ซึ่งก็มีประมาณนี้มาตั้งแต่สมัยผมสำรวจเมื่อ 10+ ปีก่อน แต่จะอยู่ห่างฝั่งกว่าหลังโหนก

ผลจากงานนี้สำคัญมาก เพราะช่วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของโลมาหลังโหนกแห่งทะเลใต้ มองในภาพรวม แหล่งอาศัยสัตว์หายากของทะเลไทยระดับ Top 3 คือบรูดาอ่าวตัว ก. พะยูนเมืองตรัง และหลังโหนกดอนสัก/ขนอม ประชากรของสัตว์ทั้ง 3 แหล่งยังอยู่ดีมีสุข พะยูนเพิ่มนิดๆ บรูด้าเพิ่มนิดๆ และหลังโหนกเพิ่มเยอะใช้ได้ นี่คือตัวชี้วัดหลักของสัตว์หายากในทะเลบ้านเรา หาก 3 แหล่งยังอยู่ดี เรายังคงยิ้มได้ ช่วยกันรักษารอยยิ้มของเราต่อไป ด้วยการดูแลน้องๆ ทุกวิถีทาง อย่างน้อยก็ช่วยกันลดขยะให้มากที่สุดนะครับ ศูนย์วิจัยอ่าวไทยตอนกลาง กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ข้อมูลโลมาอยู่ในเมนต์ครับ จะนำงานดีๆ จากการประชุม Ocean Science Decade มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ ครับ"

คลิกโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น