อธิบดีกรมชลประทาน นำทีมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขตภาคใต้ สั่งติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ ในจุดเสี่ยง พร้อมรับมือเต็มที่
วันนี้( 27 พ.ย. 64 )ที่สำนักงานชลประทานที่ 16 จ.สงขลา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขตภาคใต้ โดยมี นายบุรีรัตน์ วงศ์บุรี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 ตลอดจนผู้อำนวยการโครงการในเขตพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบประชุมทางไกล Video Conference
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยประชาชน จึงตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหาย และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ประกอบกับในช่วงระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2564 จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักสะสม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้
กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศ และวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ ในจุดเสี่ยงต่างๆ ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ตลอดลำน้ำ ลำคลอง และบริเวณหน้าอาคารชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 79 สายคลอง รวมระยะทาง 182,280 เมตร เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสำรวจและปรับปรุงอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพอยู่เสมอ ตลอดจนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ให้กับประชาชนได้รับทราบ ผ่านจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด
ในส่วนของพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กรมชลประทานได้พิจารณาดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ขึ้น โดยการปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากเดิมเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อระบายน้ำร่วมกับคลองอู่ตะเภา จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,665 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ด้านโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง แม้จะอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง แต่สามารถเปิดทางให้น้ำระบายได้ชั่วคราวตั้งแต่ต้นฤดูฝน ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองตรังในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี