กรมอนามัยเผย วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีสามารถฝังยาคุมกำเนิดและห่วงอนามัยได้ทุกสิทธิสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และลดปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะวัยรุ่นที่ต้องการคำปรึกษา โทร. 1663 ได้ทุกวัน
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. "กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข" เผย วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีสามารถฝังยาคุมกำเนิดและห่วงอนามัยได้ ทุกสิทธิสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และลดปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะวัยรุ่นที่ต้องการคำปรึกษา โทร. 1663 ได้ทุกวัน
นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีสิทธิสามารถเข้ารับการคุมกำเนิดฟรีทุกวิธี รวมถึงยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยที่โรงพยาบาลเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งภาครัฐและเอกชน ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยที่ผ่านมากรมอนามัยได้ร่วมกับ สปสช.ส่งเสริมการเข้าถึงบริการยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยสำหรับวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ต้องการคุมกำเนิด ทุกสิทธิสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการในเครือข่ายของ สปสช.ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาแม่วัยรุ่นได้
“ทั้งนี้ ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการควบคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง มี 2 ชนิด ได้แก่ ยาฝังคุมกำเนิด ชนิด 1 หลอด จะคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี และยาฝังคุมกำเนิด ชนิด 2 หลอด จะคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี โดยจะฝังใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขน และถอดออกเมื่อครบกำหนด ซึ่งข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด ได้แก่ 1) สะดวก มีประสิทธิภาพสูง และคุมกำเนิดได้นาน 2) ไม่รบกวนการมีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน 3) ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ หรือปัญหาลืมกินยาเม็ดคุมกำเนิด และ 4) ใช้ในสตรีให้นมบุตรได้ โดยไม่มีผลต่อปริมาณ และคุณภาพของน้ำนม เมื่อหยุดการใช้ยาฝังคุมกำเนิดจะสามารถกลับสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้เร็ว การฝังยาคุมกำเนิดอาจมีอาการข้างเคียง ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย เป็นสิว และอารมณ์แปรปรวนได้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 6 เดือน หากผู้รับบริการยาฝังคุมกำเนิดมีเลือดออกผิดปกติ ปวดศีรษะมาก มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะขาดประจำเดือน หรือประจำเดือนมากะปริบกะปรอย สามารถขอรับคำปรึกษาและการรักษาได้จากผู้ให้บริการ สำหรับวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมและยังหาทางออกกับปัญหาไม่ได้ สามารถโทร.ไปปรึกษาดูแลช่วยเหลือตามสภาพปัญหาที่สายด่วน 1663 ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ได้ทุกวัน เพื่อรับบริการปรึกษาทางเลือกและส่งต่อดูแล รวมทั้งการให้บริการแนะแนวทางการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว