xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ" เตือนไทยยอดติดเชื้อยังอันดับ 1 ในอาเซียน วอนภาครัฐ-เอกชนช่วยกันกำหนดระเบียบที่จำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ประเทศไทยยังพบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม ATK ครองอันดับ 1 ของอาเซียน วอนภาครัฐและเอกชนช่วยกัน ให้ความเชื่อมั่นในแหล่งวิชาการ พร้อมกำหนดกฎระเบียบที่ต้องใช้ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

วันนี้ (10 พ.ย.) เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "10 พฤศจิกายน 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 431,961 คน ตายเพิ่ม 6,978 คน รวมแล้วติดไปรวม 251,510,421 คน เสียชีวิตรวม 5,078,636 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.16 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.78

หากดูแค่ทวีปยุโรป จะพบว่าจำนวนการติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นคิดเป็น 58.66% ของทั้งโลก และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มนั้นคิดเป็น 57% ของทั้งโลก ดูการกระจายของเคสติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นพบว่าเป็นกันถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะประเทศที่ได้วัคซีนมากหรือน้อยก็ตาม แนวโน้มการระบาดที่เพิ่มขึ้นนั้นน่าจะมาจากเรื่องการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน และการเปิดเสรีการใช้ชีวิต การเดินทาง ท่องเที่ยว พบปะกันมากขึ้น ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตนั้น ชัดเจนว่าประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบมากจะมีจำนวนการเสียชีวิตน้อยกว่า ปัจจัยเรื่องการฉีดวัคซีนครบโดสจึงน่าจะมีความสำคัญสูงที่จะส่งผลต่อเรื่องการเสียชีวิต

ดังนั้น การเปิดประเทศ เปิดท่องเที่ยว เดินทางพบปะกันของแต่ละประเทศนั้น เรื่องนี้จึงสำคัญยิ่งนัก หากสัดส่วนประชากรที่ได้วัคซีนครบอยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงของการป่วยและเสียชีวิตย่อมมีสูง ถ้าไปเปิดในช่วงที่ยังไม่พร้อมหรือพร้อมน้อยกว่าเค้า การป้องกันตัวของประชาชนแต่ละคนจึงต้องเน้นย้ำให้เคร่งครัดมากๆ

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 6,904 คน สูงเป็นอันดับ 19 ของโลกหากรวม ATK อีก 1,497 คน จะขยับเป็นอันดับ 15 ของโลก และยอดที่รวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

อัปเดตงานวิจัย
1. ทีมวิจัยจากเดนมาร์กศึกษาไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่กลายพันธุ์ AY.4.2 พบว่าไม่ได้ดื้อต่อระดับภูมิคุ้มกันมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลตาเดิม
2. การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมในการป้องกันการติดเชื้อของทีมวิจัยของอเมริกาได้ชี้ให้เห็นว่า การที่คนเรานั้นจะมีความเชื่อว่าตนเองจะสามารถป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเพื่อจะได้ไม่ติดเชื้อโควิด (self-efficacy) ได้นั้นมีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ การที่เขาต้องรับรู้และตระหนักว่าโควิดนั้นยังคุกคามหรืออันตราย (perceived threat), การทำให้เค้ามีความเชื่อมั่นในแหล่งข้อมูลวิชาการ, และการที่มีกฎระเบียบที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ เช่น การกำหนดให้ใส่หน้ากาก เป็นต้น

ดังนั้นในยามที่สังคมไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จึงต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การสร้างความเชื่อมั่นในข้อมูลความรู้วิชาการที่พิสูจน์ได้ เข้าถึงได้ และชัดเจน รวมถึงการที่ต้องช่วยกันทั้งรัฐ และเอกชน ในการกำหนดระเบียบปฏิบัติที่จำเป็น เช่น การใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่าง นี่คือสิ่งสำคัญ ด้วยรักและห่วงใย"




กำลังโหลดความคิดเห็น