รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยกคลัสเตอร์ทับเบิกที่พบผู้ป่วยยืนยันทะลุ 300 รายแล้ว ยันสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง
วันนี้ (21 ต.ค.) คืบหน้า..โควิดคลัสเตอร์ทับเบิก ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันทะลุ 300 รายแล้ว แต่เกือบทั้งหมดขอรักษาตัวในบ้าน แถมเหลือต้องตรวจอีก 743 ราย ด้าน จนท.ปักหลักตั้งด่านคุมคนเข้าออก-นักท่องเที่ยว โรงแรม-รีสอร์ตงดบริการ
อ่านข่าวประกอบ - “โรงแรม-รีสอร์ต” บนทับเบิก 2 หมู่บ้านงดบริการ หลังผู้ป่วยโควิดทะลุ 300 ส่วนใหญ่ไม่ยอมเข้า รพ.สนาม
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ (21 ต.ค.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” ห่วงสถานการณ์คลัสเตอร์ภูทับเบิกที่ยังมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากทำให้เห็นว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ ทั้งนี้ รศ.นพ.ธีระได้ระบุข้อความว่า
“บทเรียนจากภูทับเบิก
ล่าสุดหมู่ 14 และหมู่ 16 ติดเชื้อกันไปแล้วถึง 303 คน เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่เกิดขึ้นจากคนเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปร่วมงานศพ และเกิดการแพร่กันมากมาย จนทำให้ข่าวออกมาเมื่อวานนี้ที่ต้องปิดรีสอร์ตและโรงแรมในพื้นที่แถวนั้นด้วย
เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นล้วนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะไปงานศพ งานเลี้ยง พบปะญาติพี่น้อง หรือท่องเที่ยว การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ
ประเทศไทยนั้นยังมีการระบาดที่รุนแรงติดลำดับต้นๆ ของโลกมาตลอด กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถควบคุมได้ การใส่หน้ากาก เจอคนน้อยๆ สั้นๆ ห่างๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก
สถิติจาก WHO Weekly Epidemiological Report รายงานออกมาวันที่ 19 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง 4% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มรายสัปดาห์ลดลง 2% ถ้าดูในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 13% จำนวนเสียชีวิตลดลด 19%
แต่...ไทยเรานั้นจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ (ยังไม่รวม ATK) ลดลงเพียง 2.6% และจำนวนเสียชีวิตลดลงเพียง 7% จะเห็นได้ว่าสถิติของไทยเรามีจำนวนติดเชื้อรายสัปดาห์ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตนั้นก็ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน
นี่คือข้อมูลที่ย้ำเตือนเราว่า สถานการณ์ระบาดนั้นไม่โอเค
อัปเดตเกี่ยวกับเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ที่เป็นที่กังวล (Variants of Concern : VOC) องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนข้อมูลวิชาการ และอัปเดตเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่า หนึ่ง ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเดลตานั้นทำให้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่โอกาสป่วยรุนแรง น่าจะไม่ต่างจากอัลฟา
สอง เดลตานั้นชัดเจนว่ามีผลทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา ประชาชนควรติดตามความรู้เกี่ยวกับไวรัสนี้ไป เพื่อให้รู้เท่าทัน และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในเรื่องต่างๆ อย่างเหมาะสม”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ