xs
xsm
sm
md
lg

TMA และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ เฟ้นหายอดนักวิจัยไทย เพื่อรับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ และ นักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิจัยไทยโชว์ผลงานนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2564 จากโครงการ “ทรายแมวที่ทำจากมันสำปะหลัง” และโครงการ “กำแพงต้นไม้บำบัดมลพิษอัจฉริยะ” ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ได้แก่ โครงการ “ระบบการประเมินพันธุกรรมจีโนมของโคนมในประเทศไทย” โดยทั้งหมดจะเข้ารับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2565

วันนี้ (1 พ.ย.) ตามที่ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยกลุ่มบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Innovation Management Group : TMA-TIMG) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้ร่วมกันจัดงาน Outstanding Technologist Awards and TechInno Forum 2021 ในหัวข้อ “Harnessing Innovation for Future Growth” เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแห่งการแบ่งปันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญและนักเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก รวมทั้งเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย ซึ่งผ่านการเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ปี 2564

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป และประธานกลุ่มบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Innovation Management Group-TIMG) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า “ปีนี้เราจัดงานภายใต้แนวคิด “HARNESSING INNOVATION FOR FUTURE GROWTH” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกธุรกิจที่พบความไม่แน่นอนจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสอันมากมายที่ซ่อนอยู่ การมี “Open Innovation” จึงเป็นรากฐานการทำงานร่วมกันในอนาคต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ การแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหา และช่วยสร้างชื่อเสียงได้ในเวลาเดียวกันคือปัจจัยความสำเร็จ โดยเฉพาะงานวิจัยที่ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้โคนมสามารถให้ผลผลิตเร็วขึ้นกว่าเดิม 4-5 เดือน และปริมาณเพิ่มขึ้น 15% คือการพัฒนาศักยภาพที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของคนไทยอย่างแท้จริง”

ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2564 ได้แก่ โครงการ “กำแพงต้นไม้บำบัดมลพิษอัจฉริยะ” ของ ผศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร สังกัด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งนำต้นไม้พันธุ์ดีที่สามารถดูดซับความเร็วลมมารวมกันสร้างเป็นนวัตกรรมกำแพงต้นไม้ฟอกอากาศ และโครงการ “เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลังไทยเพื่อผลิตภัณฑ์ทรายแมว” ของ ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเทคโนโลยีกระบวนการ Pregelatinization กับความดันที่เหมาะสมมาปรับปรุงคุณสมบัติเชิงโมเลกุลของมันสำปะหลัง จนทำให้สามารถดูดซับของเหลวได้ดี รวดเร็ว เหนียว และจับตัวเป็นก้อนได้ ก่อให้เกิด “ผลิตภัณฑ์ทรายแมว” ที่ดูดซับกลิ่นโดยไม่ใช้สารเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังมากขึ้นถึง 10 เท่า ปรับจาก 7-8 บาท เป็น 80-100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีความพร้อมในการผลิตสินค้าในระดับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศซึ่งผลิตภัณฑ์ทรายแมวในตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 2.8 แสนล้านบาทต่อปี ปัจจุบันส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย เวียดนาม และกำลังเจรจากับ อิตาลี ญี่ปุ่น ที่จะส่งผลต่อการสร้างตลาดเชิงบวก และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นอย่างน่าจับตามอง

ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2564 ได้แก่ รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ สังกัดภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวิจัยพัฒนา “ระบบการประเมินพันธุกรรมจีโนมของโคนมในประเทศไทย” โดยนำข้อมูลการเลี้ยงดูโคนมของเกษตรกรทั่วประเทศไทย มาประมวลผลร่วมกัน เพื่อทำนายความสามารถทางพันธุกรรมระดับจีโนม และผสมผสานกับเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุศาสตร์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เลี้ยงดูง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตน้ำนมได้เร็ว และมากกว่าเดิม จึงช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการเลี้ยงดู แต่เพิ่มปริมาณผลผลิตให้เกษตรกร จึงช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจของอุตสาหกรรมปศุสัตว์อย่างน่าชื่นชม

ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้มอบช่อดอกไม้ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่ทุกท่านที่ได้รับรางวัล
















กำลังโหลดความคิดเห็น