วันที่ 27 ตุลาคม 2564 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขานรับนโยบายสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม 5F ซึ่งได้แก่ FOOD, FILM ,FASHION ,FIGHTING และ FESTIVAL โดยมีแนวทางสำคัญ เช่น การผลักดันกลุ่มนวัตกรรมความบันเทิงด้วยสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมด้านมาร์เทค (MARTech) การสนับสนุนนวัตกรรมอาหารพื้นถิ่น การจับคู่สตาร์ทอัพและชุมชนเพื่อเปิดมุมมองใหม่ในด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเทศกาลประเพณีไทย พร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันวัฒนธรรมทั้ง 5 ด้านให้เป็นดีเอ็นเอที่สำคัญของการทำนวัตกรรมของคนไทย เพื่อสร้างการจดจำและสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่น รองรับฤดูการท่องเที่ยวโฉมใหม่ที่กลับมาอีกครั้งของประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า “รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ กระทรวง อว. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและผลักดันทั้ง 2 มิติ ได้แก่ มิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และมิติสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ และร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างมั่นคง
โดยจะเห็นได้ว่า “วัฒนธรรม” เป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนในฝั่ง Soft power ที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่โดดเด่นของคนไทยมายาวนาน สำหรับวัฒนธรรมที่มีศักยภาพทั้ง 5 สาขา ได้แก่ 1) อาหาร (Food) 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ดังนั้น การนำ “นวัตกรรม” เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับ “วัฒนธรรม” เหล่านี้ จึงเป็นสัญญาณที่ดีของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่ง อว. ก็ได้จัดตั้งวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานใน 5 ด้าน ได้แก่ สุวรรณภูมิศึกษา โลกคดีศึกษา เศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์และศิลปกรรมแห่งชาติ และช่างศิลป์ท้องถิ่น โดยอาศัยเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมผสมผสานกับสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ ในการพัฒนาประเทศไทย”
จึงเป็นสัญญาณที่ดีของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่ง อว. ก็ได้จัดตั้งวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานใน 5 ด้าน ได้แก่ สุวรรณภูมิศึกษา โลกคดีศึกษา เศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์และศิลปกรรมแห่งชาติ และช่างศิลป์ท้องถิ่น โดยอาศัยเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมผสมผสานกับสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ ในการพัฒนาประเทศไทย”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันและส่งเสริมวัฒนธรรม 5F ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนำศิลปะของไทยในแขนงต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ อาหาร (FOOD) ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (FILM) การออกแบบแฟชั่นไทย (FASHION) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (FIGHTING) และเทศกาลประเพณีไทย (FESTIVAL) มายกระดับให้เป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยต้นทุนหรือเสน่ห์ของแต่ละชนชาติ หรือ Soft Power ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นนโยบายในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ดังนั้น NIA ได้เริ่มวางแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรมด้านวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เช่น การผลิตนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว การยกระดับอาหารพื้นถิ่นรูปแบบใหม่ การนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ การสร้างรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่โดยอิงตามเทศกาลประเพณี และการสนับสนุนแพลตฟอร์มศิลปะป้องกันตัวของไทย เป็นต้น”
NIA ได้เริ่มนำร่องในบางกลุ่ม เช่น การผลักดันกลุ่มนวัตกรรมความบันเทิง หรือกลุ่ม MARTech (มาร์เทค) ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมด้านดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการ (Music, Art & Recreation) ผ่านกลไกการพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมกลุ่มผู้ที่มีความสามารถในระดับมหาวิทยาลัยให้สามารถต่อยอดนวัตกรรมเป็นธุรกิจจริง โดยเฉพาะในด้านการผลิตเนื้อหารูปแบบใหม่ และการผลักดันให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น นวัตกรรมอาหาร เช่น เมนูอาหารพื้นถิ่นสู่เมือง “หัวป่า” แอปพลิเคชันบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิต “ปิ่นโตร้อยสาย” ซึ่งนอกจากจะเน้นการพัฒนาอัตลักษณ์ของอาหารพื้นถิ่นแล้ว NIA ยังมีโปรแกรม Global FoodTech Incubator & Accelerator Program หรือ SPACE-F สำหรับบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหารในกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่และการเติบโตทางธุรกิจ ผ่านการเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคธุรกิจและการศึกษา โดยสนับสนุนสตาร์ทอัพแล้วอย่างน้อย 33 ราย จาก 8 ประเทศ คือไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา สามารถระดมทุนได้สำเร็จอย่างน้อย 4 ราย และยังเกิดการรังสรรค์อาหารในมุมมองที่แตกต่างออกไป เช่น การพัฒนาโปรตีนจากพืช (แพลนต์เบส) ด้วยวัตถุดิบในประเทศไทย การพัฒนารสชาติอาหารใหม่ เป็นต้น
การผลักดันนวัตกรรมเพื่อรองรับเทศกาลประเพณีไทย ผ่านการสนับสนุนและจับคู่ระหว่างสตาร์ทอัพหรือกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวกับชุมชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้คนไทยและชาวต่างชาติรู้จักศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์สินค้าและบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น ผ้าเขียนเทียนสีธรรมชาติของชาวม้ง เครื่องประดับจากเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ กาแฟหอมเหาะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนการสนับสนุนแพลตฟอร์มให้ความรู้ด้านสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย และการผลักดันเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual reality: VR) เพื่อสร้างประสบการณ์ทางการท่องเที่ยวในช่วงที่ทั่วโลกยังรอการเปิดประเทศ
“นอกจากการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าวัฒนธรรม 5F ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแล้ว NIA ยังมีเป้าหมายผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เป็นดีเอ็นเอที่สำคัญของการทำนวัตกรรมของคนไทย เพื่อสร้างการจดจำและภาพลักษณ์ที่โดดเด่นก่อนจะลงสนามแข่งขันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะการสร้างการจดจำกับกลุ่มนักลงทุน หรือกลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรมระดับโลก โดยอาศัยกรณีศึกษาจากหลายประเทศที่สามารถสร้างรายได้ในระดับหลักแสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้ทรัพยากรในประเทศที่สิ้นเปลืองเพราะทั้งหมดล้วนใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อน ตลอดจนประเทศไทยมีตลาดในการรองรับโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการรับวัฒนธรรมของไทย เช่น แฟชั่น ความบันเทิง อาหาร ที่ได้รับความนิยมในระดับที่ดี โดยนโยบายดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโฉมใหม่ที่กลับมาอีกครั้งของประเทศ ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย